ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตะวันมหาวิหาร ครั้งนั้น ท่านคิริมานนท์อาพาธ(เจ็บป่วย) หนัก กระสับกระส่ายเพราะพิษไข้ ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลให้เสด็จไปเยี่ยม พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าอานนท์จะไปเยี่ยมพระคิริมานนท์จงแสดงสัญญา ๑๐ อย่าง ให้พระคิริมานนท์ฟังด้วย เพราะเมื่อฟังจบแล้วจะหายจากโรคาพาธนั้นโดยเร็วพลัน จากนั้นทรงแสดงสัญญา ๑๐ ให้ท่านพระอานนท์ได้เรียนและจดจำเพื่อนำไปแสดงแก่พระคิริมานนท์ต่อไป
สัญญา ๑๐
๑. อนิจจสัญญา
๒. อนัตตสัญญา
๓. อสุภสัญญา
๔. อาทีนวสัญญา
๕. ปหานสัญญา
๖. วิราคสัญญา
๗. นิโรธสัญญา
๘. สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
๙. สัพพสังขาเรสุอนิฏฐสัญญา
๑๐. อานาปานสติ
สัญญา หมายถึง ความจำได้, ความหมายรู้ได้, หรือความกำหนดหมาย เป็นสัญญาชั้นสูงที่จะนำไปสู่ปัญญา มี ๑๐ ประการ คือ
๑. อนิจจสัญญา กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร หมายถึง การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดมาแล้วดับไป ผันแปรเปลี่ยนสภาพตลอดเวลา หรือเป็นสิ่งชั่วคราวตั้งอยู่ได้ชั่วขณะ
๒. อนัตตสัญญา กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรม หมายถึง การพิจารณาเห็นความเป็นของมิใช่ตัวตนของอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) และอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสภาพว่างเปล่าหาสภาวะที่แท้จริงไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง หรือไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร
๓. อสุภสัญญา กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย หมายถึง การพิจารณาร่างกายนี้ทั้งหมด ตั้งแต่พื้นฝ่าเท้าขึ้นไปจนถึงปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีอยู่ในกายนี้ ๓๑ อย่าง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น พิจารณาจนเกิดเห็นความไม่งามของกายขึ้นในจิต
๔. อาทีนวสัญญา กำหนดหมายโทษแห่งกาย คือ มีอาพาธต่างๆ หมายถึง การพิจารณาเห็นว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก ความเจ็บไข้ต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้ในกายนี้ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนฤดูกาล, วิบากกรรม, หรือการรักษาสุขภาพร่างกายไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
๕. ปหานสัญญา กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตก และบาปธรรม หมายถึง การไม่รับเอาอกุศลวิตก ๓ (กามวิตก, พยาบาทวิตก, วิหิงสาวิตก) ที่เกิดขึ้น แต่กลับพยายามละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้อกุศลทั้งหลายทั้งปวงไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
๖. วิราคสัญญา กำหนดหมายวิราคะ คือ อริยมรรคว่า เป็นธรรมอันละเอียด หมายถึง การพิจารณาเห็นว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด และพระนิพพานเป็นภาวะที่สำรอกกิเลสได้จริง
๗. นิโรธสัญญา กำหนดหมายนิโรธความดับตัณหา คือ อริยผล ว่าเป็นธรรมอันละเอียด หมายถึง การพิจารณาเห็นว่าภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความดับ และพระนิพพาน เป็นภาวะที่ดับตัณหาได้จริง
๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง หมายถึง การละอุปาทานในโลกที่เป็นเหตุตั้งมั่น ยึดมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต งดเว้นไม่ถือมั่น รู้จักยับยั่งใจไม่ให้ไหลไปตามอำนาจตัณหา
๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง หมายถึง การพิจารณาความไม่ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ จนเกิดความอึดอัด ระอาเบื่อหน่าย รังเกียจในสังขารทั้งปวง
๑๐. อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก หมายถึง การตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปในที่อื่น กำหนดจิตเฉพาะที่ลมหายใจเข้าออก
พระอานนท์ เมื่อได้เรียนทรงจำสัญญา ๑๐ ประการนี้ได้แล้วจึงได้ไปเยี่ยมไข้พระคิริมานนท์ แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ นั้นแก่ท่าน เมื่อฟังจบแล้วท่านพระคิริมานนท์ได้หายขาดจากอาพาธนั้น
การที่ทุกขสัญญาไม่ปรากฏอยู่ในสัญญา ๑๐ ประการ ในคิริมานนท์สูตรนั้น มิใช่หมายความว่าไม่มีเรื่องทุกข์ร่วมอยู่ในที่นั้นด้วย เพราะทุกข์ได้ทรงแสดงไว้ในอาทีนวสัญญา การที่ทรงแสดงทุกข์ด้วยอาทีนวสัญญานั้น ก็โดยมีพระพุทธประสงค์ที่จะให้เหมาะแก่บุคคลผู้รับพระธรรมเทศนา คือ พระคิริมานนท์ผู้กำลังต้องอาพาธอยู่ จึงได้ทรงยกโรคาพาธต่างๆ อันเป็นอาการของทุกข์ขึ้นแสดง โดยความเป็นโทษของร่างกายเสียทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นอันยุติว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทุกข์ไว้ในที่นั้นโดยชื่อว่า อาทีนวสัญญา ฯ
(หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นเอก รวมทุกวิชา.กรุงเทพฯ:เลี่ยงเชียง,๒๕๔๗.)อริยสัจ ๔
วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ปัจจุบันนี้หัวใจของมนุษย์ถูกกระแสแห่งวิทยาศาสตร์เข้าครอบครองต่างยินดีภาคภูมิใจว่าเราฉลาดก้าวหน้าทันสมัยมีทั้งคอมพิวเตอร์ จรวดขีปนาวุธ ระเบิดนิวเคลียร์มากมายเกินกว่าที่จะนับได้ การศึกษาเรียนรู้สารพัดทฤษฏี นี้คือผลแห่งอานุภาพแห่งจิตถ้าคิดผิดเสียแล้วก็สามารถทำลายล้างโลกได้เช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในวันนี้
ตอบลบคิดผิดทำผิด คิดใหม่ทำใหม่ได้ถ้ายังปรารถนาจะอยู่ในโลกต่อไปอีก พุทธวัจนะในพระสูตรนี้จะแนะนำให้มนุษย์เข้าใจตนเองและความเป็นจริงของโลกของธรรมชาติ เพื่อให้เพิ่มพูนความเข้าใจได้ง่ายขึ้นจงอย่าหมุนโลกเพราะโลกไม่เคยหมุนมันเป็นเซลล์มหึมา เป็นที่เกิดของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต จงเห็นจงได้ยินเฉยๆอย่าคิด จงดำรงชีวิตตามหน้าที่ของตัวเองและมีเมตตาธรรม