วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงสร้างทางกายภาพของจักรวาล

องค์ประกอบจักรวาลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ละจักรวาลจะมีการวางตำแหน่งโครงสร้างของจักรวาลเหมือนกันทุกประการ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพ ขอบเขตของจักรวาล และตำแหน่งของแต่ละองค์ประกอบชัดเจนยิ่งขึ้น จะขอกล่าวถึงรายละเอียดใน เรื่องนี้เพียงคร่าวๆ พอให้เห็นเป็นแนวทางในการศึกษาเท่านั้น

โครงสร้างสิ่งต่างๆ รอบเขาสิเนรุ
เรื่องโครงสร้างจักรวาล จะขอเริ่มอธิบายจากศูนย์กลางของจักรวาลขยายออกไปในแนวข้างโดย รอบเขาสิเนรุ มีภูเขาสิเนรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ถัดจากเขาสิเนรุออกมา จะมีภูเขา ๗ ชั้นรายล้อมเขาสิเนรุ ภูเขารอบนอกสุดจะต่ำสุด และไล่ระดับความสูงมาจนกระทั่งถึงรอบที่ ๗ ติดกับเขาสิเนรุซึ่ง มีระดับความสูงที่สุด ในระหว่างเขาแต่ละชั้นจะมีน้ำคั่นกลาง ถัดจากภูเขาทั้ง ๗ ชั้นออกไป จะเป็นทะเลใหญ่ เป็นที่ตั้งของโลกมนุษย์ทั้ง ๔ ทวีป ซึ่งอยู่ประจำ ๔ ทิศ รอบเขาสิเนรุ มีดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ลอยอยู่ ระดับกึ่งกลางระหว่างระดับพื้นทะเลกับยอดเขาสิเนรุ โคจรรอบเขาสิเนรุ

๑. ทวีปทั้ง ๔
จะขอขยายความเพิ่มเติมในส่วนของตำแหน่งที่ตั้งของโลกมนุษย์ทั้ง ๔ ทวีป ซึ่งมีดังนี้
๑) ปุพพวิเทหทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาด้านทิศตะวันออก มีพื้นเป็นเงิน แสงสีเงินสะท้อนไป ยังทวีปซีกนั้น
๒) อปรโคยานทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาด้านทิศตะวันตก มีพื้นเป็นแก้วผลึก แสงใสๆ สะท้อน ไปยังทวีปซีกนั้น
๓) อุตตรกุรุทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาด้านทิศเหนือ มีพื้นเป็นทองคำ แสงสีทองสะท้อนไปยังทวีปซีกนั้น
๔) ชมพูทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาด้านทิศใต้ มีพื้นเป็นมรกต แสงสีเขียว สะท้อนไปยังทวีปซีกนั้น

โครงสร้างจักรวาลเบื้องบนเขาสิเนรุ
เราได้ศึกษาโครงสร้างจักรวาลโดยรอบเขาสิเนรุแล้ว ลำดับต่อไปจะนำเสนอโครงสร้างจักรวาล ทางด้านแนวตั้งส่วนบนของเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์ภายในสุคติภูมิ จะเริ่มจากตัวเขาสิเนรุซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล
๑. สวรรค์ชั้นที่ ๑ ชื่อ จาตุมหาราชิกา มีที่อยู่รายรอบเขาสิเนรุ เทวดาชั้นนี้มีหลายประเภท ทั้งที่ อยู่บนพื้นดิน บนต้นไม้ และอยู่ในอากาศ บางพวกอยู่ปะปนกับที่อยู่ของมนุษย์ในชมพูทวีป พวกที่อยู่ตาม ดวงดาวทั้งหลายเป็นอากาสเทวา
๒. สวรรค์ชั้นที่ ๒ ชื่อ ดาวดึงส์ อยู่บนหน้าตัดของเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นกึ่งกลางของกามภพ
๓. สวรรค์ชั้นที่ ๓ ชื่อ ยามา อยู่ถัดจากชั้นดาวดึงส์ สูงขึ้นไปในอากาศ
๔. สวรรค์ชั้นที่ ๔ ชื่อ ดุสิต อยู่ถัดจากสวรรค์ชั้นยามา สูงขึ้นไปในอากาศ มีขนาดใหญ่กว่าสวรรค์ ชั้นยามา
๕. สวรรค์ชั้นที่ ๕ ชื่อ นิมมานรดี อยู่ถัดจากสวรรค์ชั้นดุสิต สูงขึ้นไปในอากาศ มีขนาดใหญ่กว่าสวรรค์ชั้นดุสิต
๖. สวรรค์ชั้นที่ ๖ ชื่อ ปรนิมมิตวสวัตดี อยู่ถัดจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดี สูงขึ้นไปในอากาศ
มีขนาดใหญ่กว่าสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
พรหมและอรูปพรหมถัดจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สูงขึ้นไปอีก มีขนาดใหญ่ขึ้นไปตามลำดับ

โครงสร้างจักรวาลเบื้องล่างเขาสิเนรุ
เราได้ดูโครงสร้างทางแนวนอนโดยรอบเขาสิเนรุ และโครงสร้างทางแนวตั้งด้านบนเขาสิเนรุแล้ว ในลำดับต่อจากนี้ไป จะนำเสนอโครงสร้างเบื้องล่างของเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์ฝ่ายทุคติภูมิโดยส่วนใหญ่
ใต้ภูเขาสิเนรุจะมีภูเขา ๓ ลูก วางแบบ ๓ เส้า เรียกว่าเขาตรีกูฏ รองรับเขาสิเนรุอยู่ ตรงกลาง ภูเขาเป็นอุโมงค์ใหญ่ เป็นที่อยู่ของอสูร (เทวดาพวกหนึ่งที่ดื่มน้ำจัณฑ์จนเมา แล้วถูกขับไล่ลงมาอยู่ตรงนี้) ซอกเขาแต่ละลูกซึ่งมีระดับต่ำกว่าที่อยู่ของอสูร จะเป็นที่อยู่ของเปรต อสุรกาย
ใต้อสูรภพลงไป จะเป็นที่อยู่ของนรกขุมใหญ่ ตั้งแต่ขุมที่ ๑ ไล่ระดับต่ำลงไปจนถึงขุมที่ ๘ ซึ่งมี ขนาดใหญ่ไปตามลำดับ ขุมที่ ๘ จะมีขนาดใหญ่ที่สุด รอบๆ นรกแต่ละขุมจะมีนรกขุมบริวาร (อุสสทนรก) อยู่รอบนรกขุมใหญ่ และที่อยู่ถัดจากขุมบริวารออกไปอีก จะเป็นนรกขุมย่อย (ยมโลก)

ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลายในจักรวาล
เมื่อเรามองออกไปในห้วงจักรวาลอันเวิ้งว้างกว้างไกลสุดสายตา ดูเหมือนว่ามีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ที่เรามองไม่เห็นเพราะภูมิส่วนใหญ่ที่อยู่อันละเอียดไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ยกเว้นมนุสสภูมิที่เราอาศัยอยู่นี้เท่านั้น เมื่อเรามองไกลออกไปในห้วงจักรวาล เราจะเห็นแต่เพียงที่ว่างๆ ที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ สุดสายตา ไม่สามารถมองเห็นภูมิอันเป็นทิพย์ที่เป็นที่อยู่ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เหล่าอื่นอีกมากมายนับไม่ถ้วน

ความหมายของ ภพภูมิ
หากจะกล่าวถึงที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ทั้งหลายในจักรวาล เรามักจะพบศัพท์ที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ คือ คำว่า ภพและภูมิ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น เพราะบางครั้งอาจจะใช้คำสับสนได้ไม่รู้ว่าจะใช้คำใดดี
ดังนั้นใคร่ขออธิบายความหมายของศัพท์นี้ก่อน
ภพ แปลว่า โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์ ภาวะชีวิตของสัตว์ คือ
๑. กามภพ คือ ที่อยู่ของผู้ยังเสวยกามคุณ
๒. รูปภพ คือ ที่อยู่ของรูปพรหม
๓. อรูปภพ คือ ที่อยู่ของอรูปพรหม
ภูมิ แปลว่า พื้นเพ ที่ดิน แผ่นดิน ในที่นี้หมายถึง ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย แบ่งออกเป็น ๓๑ ภูมิ (ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป)
จากคำแปลของคำว่าภพและภูมิ ทำให้เราทราบว่า ทั้ง ๒ คำนี้ มีความหมายคล้ายคลึงกัน
เพียงแต่การแบ่งหมวดหมู่ได้มากน้อยไม่เท่ากัน คำว่า ภูมิ จะสามารถแบ่งประเภทได้มากกว่า คำว่า ภพ โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้คำทั้ง ๒ นี้ควบคู่กันไป

องค์ประกอบของภพ
อย่างที่เราทราบแล้วว่าในแต่ละจักรวาลมีองค์ประกอบอย่างเดียวกัน และภูมิของสัตว์ทั้งหลาย
ก็มีเหมือนกัน คือประกอบด้วยภูมิทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ซึ่งสามารถจัดอยู่ในภาวะของจิตที่เรียกว่า ภพ อันประกอบด้วย กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

ความหมายของกามภพ รูปภพ อรูปภพ
กามภพ คือ ภพอันเป็นที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม ภพนี้เป็นภพของผู้ที่ยังมีความใคร่ ความอยาก ความพึงพอใจอยู่ในจิตใจ ดังนั้นภพนี้จึงได้ชื่อว่า กามภพ ภูมิที่อยู่ในภพนี้มีทั้งหมด ๑๑ ภูมิ ได้แก่ มนุสสภูมิ ๑ อบายภูมิ ๔ และเทวภูมิ ๖
รูปภพ หรือ พรหมโลก คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม พรหมโลกนี้อยู่ในภูมิที่สูงกว่าเทวโลก มีทิพยสมบัติทั้งหลายที่มีความสวยงามประณีตกว่าในเทวโลก
อรูปภพ คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของอรูปพรหม อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปภพ มีทิพยสมบัติทั้งหลาย ที่มีความสวยงามประณีตกว่าในรูปภพ ภพทั้ง ๓ นี้

กามภพ
กามภพ คือ ภพอันเป็นที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม ซึ่งประกอบด้วยภูมิ ทั้งหมด ๑๑ ภูมิ ได้แก่ มนุสสภูมิ ๑ อบายภูมิ ๔ และเทวภูมิ ๖
ในเบื้องต้นจะขอกล่าวถึงมนุสสภูมิเสียก่อน เพราะมนุสสภูมิ เป็นศูนย์กลางของการสร้างบุญและบาป เป็นกลไกสำคัญในการนำสัตว์ทั้งหลายไปเกิดในภูมิฝ่ายสุคติ และทุคติ ซึ่งเป็นที่เสวยผลบุญและบาป

มนุสสภูมิ
มนุสสภูมิ คือ โลกซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์ผู้มีใจสูง คำว่า "มนุษย์"มาจากคำว่า "มน" (อ่านว่า มะนะ) แปลว่า ใจ รวมกับคำว่า อุษย์ หรือ อุตม (อุดม) แปลว่า สูง มนุษย์จึงหมายถึงผู้มีใจสูง ใจรุ่งเรือง และกล้าแข็ง ซึ่งก็คือคนที่อาศัยอยู่ในโลกของเรานี้ และยังรวมถึงคนที่อยู่ในอีกสามโลกในจักรวาลเดียวกับเราด้วย
ที่อยู่ของมนุษย์หรือมนุสสภูมิ อยู่บนพื้นดินในระดับเดียวกับไหล่เขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่ทั้ง ๔ ทิศของ เขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล ผืนแผ่นดินใหญ่ทั้ง ๔ เรียกว่า "ทวีป" มีชื่อว่า ปุพพวิเทหทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และชมพูทวีป ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
เพราะเหตุนี้ ในทวีปทั้ง ๔ จึงมีสีของต้นไม้ ใบไม้ น้ำในทะเล มหาสมุทร ท้องฟ้า ตามสีของรัตนะที่ไหล่เขาพระสุเมรุสะท้อนแสง แต่ละทวีปมีทวีปน้อย ๕๐๐ เป็นบริวาร คนที่อาศัยอยู่ในทวีปน้อย มีความเป็นไปต่างๆ ตามผู้คนที่อยู่ในทวีปใหญ่ รูปใบหน้าของมนุษย์มีลักษณะตามสัณฐานของทวีป
มนุษย์ในทวีปทั้ง ๔ เมื่อกล่าวโดยรวม มีรูปร่าง สัณฐาน หน้าตา อยู่ในลักษณะเดียวกัน ต่างกันตรงขนาด ความได้ส่วนสัด และความประณีตสวยงาม เช่น มนุษย์ในชมพูทวีปมีใบหน้ารูปไข่ มนุษย์ใน อปรโคยานทวีปมีใบหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ มนุษย์ในปุพพวิเทหทวีปมีใบหน้าเหมือนมะนาวตัด หรือพระจันทร์ครึ่งซีก ส่วนมนุษย์ในอุตตรกุรุทวีปมีใบหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม (รูปหน้าของมนุษย์ทวีปใดมีลักษณะเหมือนสัณฐานของทวีปนั้น) มนุษย์ในชมพูทวีป มีความสวยงามและความขี้เหร่แตกต่างกันมากมาย ตามแต่กุศลและอกุศลที่เจ้าตัวกระทำไว้มาให้ผล ส่วนมนุษย์ในทวีปอื่นอีก ๓ ทวีป ความสวยงามของผู้คน ไม่แตกต่างกัน เนื่องจากมีคุณธรรมในจิตใจเสมอเหมือนกันโดยทั่วไป
คุณสมบัติ ๓ ประการ ที่คนในชมพูทวีปประเสริฐกว่าคนในทวีปอื่นและเทวดาชั้นดาวดึงส์ คือ
๑. สูรภาวะ มีจิตใจกล้าแข็งในการกระทำความดี เช่น บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
๒. สติมันตะ มีสติตั้งมั่นในคุณพระรัตนตรัย
๓. พรหมจริยวาส สามารถประพฤติพรหมจรรย์ คือบวชได้
ลักษณะพิเศษ ๔ ประการ ที่คนในชมพูทวีปประเสริฐกว่าคนในทวีปอื่น คือ
๑. มีจิตใจกล้าแข็ง ทั้งในด้านประกอบกรรมดีและกรรมชั่ว ทางฝ่ายดีนั้นสามารถปฏิบัติตน
ให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นต้น
ฝ่ายชั่วก็สามารถกระทำได้ถึงขั้นฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตตุปบาท ทำสังฆเภท เป็นต้น คนในอีก ๓ ทวีป ไม่สามารถกระทำกล้าแข็งได้ถึงเพียงนี้
๒. มีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุ ทั้งที่สมควรและไม่สมควร รู้จักพิจารณาหาเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเป็นอย่างๆ ได้ทั้งฝ่ายที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม
๓. มีความเข้าใจในสิ่งที่มีประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ รู้จักทั้งโลกิยประโยชน์ และโลกุตตร- ประโยชน์ โลกิยประโยชน์ ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มนุษยสมบัติ เทวสมบัติ เป็นต้น ส่วนความเข้าใจ จะลึกซึ้งมากน้อยระดับใด ขึ้นอยู่กับศรัทธา วิริยะ ปัญญา บารมี และการคบหาสมาคม
๔. มีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งโลกิยกุศลและโลกุตตรกุศล ฝ่ายกุศล ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ฝ่ายอกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
สำหรับคนที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีป มีคุณสมบัติพิเศษสูงและประเสริฐกว่าคนชมพูทวีปและเทวดา ชั้นดาวดึงส์ ๓ ประการ คือ
๑. ไม่ถือเอาเงินทอง ทรัพย์สมบัติ ว่าเป็นของตน
๒. ไม่หวงแหนหรือถือเอาว่า ผู้นั้นผู้นี้เป็นบุตร ภรรยา สามีของตน
๓. มีอายุยืนถึง ๑,๐๐๐ ปีเสมอ
สำหรับเรื่องของปุพพวิเทหทวีป และอปรโคยานทวีป ไม่มีอะไรพิเศษ ชีวิตความเป็นไปต่างๆ คล้ายคนในชมพูทวีป เว้นแต่ความเจริญของโลกและจิตใจของผู้คน ถึงจะสูงก็ไม่สูงเท่าคนในชมพูทวีป แม้จะต่ำก็ไม่ต่ำเท่าคนในชมพูทวีป เป็นไปในฐานะกลางๆ พระโพธิสัตว์ก็ดี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ดี เมื่อจะบังเกิด จะอุบัติขึ้นเฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้น ไม่เกิดสร้างบารมีที่โลกมนุษย์ทวีปอื่นๆ
เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเป็นผู้มีมนุษยธรรม คือ ธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ ซึ่งก็คือศีลทั้ง ๕ ข้อ หากเป็นผู้ที่บกพร่องในการรักษาศีลแล้ว ก็ยากที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก

อบายภูมิ ๔
อบายภูมิ คือ ภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ เป็นสถานที่ที่สัตว์ไปเกิดแล้วไม่มีโอกาสกระทำ กุศลกรรมหรือความดีเลยแม้แต่น้อย เป็นภูมิที่ต่ำที่สุดในบรรดาภูมิทั้งหมด อบายภูมิมีทั้งหมด ๔ ภูมิ ได้แก่ นิรยภูมิ เปตติวิสยภูมิ อสุรกายภูมิ และติรัจฉานภูมิ

นิรยภูมิ
นิรยภูมิ หรือ โลกนรก คือ โลกที่ไม่มีความสุขสบาย เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ล้วนๆ
ปราศจากความสุขโดยสิ้นเชิง สัตว์ที่ไปเกิดอยู่ในโลกนรกนี้ไม่มีความสุขแม้สักนิดหนึ่งเลย โลกนรกนี้มี อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมาก แบ่งเป็นเขตๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เรียกว่า "ขุม" สัตว์นรกที่บังเกิดขึ้น ในแต่ละขุม จะได้รับทุกขเวทนาแตกต่างกัน แล้วแต่อกุศลกรรมที่ตัวเคยกระทำไว้ ในนิรยภูมินี้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ มหานรก อุสสทนรก และยมโลก

มหานรก (นรกใหญ่)
นิรยภูมิประเภทที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า มหานรก มีทั้งหมด ๘ ขุม ตั้งซ้อนเรียงกันอยู่เป็นชั้นๆ มี
นายนิรยบาลหรือเจ้าหน้าที่ในมหานรก ซึ่งเกิดจากอำนาจบาปกรรมของสัตว์นรก คอยลงทัณฑ์สัตว์นรก ด้วยอาการต่างๆ มหานรกมี ๘ ขุม ดังต่อไปนี้
ก. สัญชีวมหานรก คือ มหานรกที่ไม่มีวันตาย เหล่าสัตว์ต้องเสวยผลกรรมชั่วที่ตัวได้กระทำ ไว้อย่างแสนสาหัส เช่น ถูกนายนิรยบาลจับมัดแล้วบังคับให้นอนลงเหนือแผ่นเหล็กแดงที่ร้อนด้วยไฟนรก ถูกฟันด้วยดาบนรก อันคมกล้าจนร่างกายขาดเป็นท่อนๆ ถูกถาก ถูกเฉือนเนื้อจนหมด ร่างกายเหลือแต่เพียงโครงกระดูก เมื่อสิ้นใจตายก็จะมี "ลมกรรม" พัดมาต้องกายให้กลับฟื้นขึ้นมาอีก เป็นๆ ตายๆ อยู่อย่างนี้จนสิ้นอายุขัย เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะทำกรรมปาณาติบาตเป็นส่วนมาก
ข. กาฬสุตตมหานรก คือ มหานรกที่ลงโทษตามเส้นด้ายดำ เหล่าสัตว์จะถูกนายนิรยบาลจับ มัดให้นอนเหนือแผ่นเหล็กแดง แล้วเอาด้ายดำ ที่ทำด้วยเหล็กนรกใหญ่เท่าลำตาลมาตีบนร่างจนเป็นรอยเส้น จากนั้นก็เอาเลื่อยมาเลื่อย หรือเอาขวานมาผ่า หรือเอามีดนรกมาเฉือนกรีด ตามเส้นด้ายดำที่ตีไว้จนกาย ขาดเป็นท่อนๆ เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะทำอทินนาทาน ชอบลักขโมยเป็นส่วนมาก
ค. สังฆาฏมหานรก คือ มหานรกที่บดขยี้ร่างกายสัตว์ เหล่าสัตว์จะถูกกองไฟนรก ที่มีอยู่เต็มไปหมดแผดเผาให้ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส จากนั้นก็ปรากฏภูเขาเหล็กนรก 2 ลูกกลิ้งมาบีบขยี้ร่าง จนแหลกลาญ เปรียบเหมือนหีบอ้อยที่บดอ้อยให้แหลกละเอียดฉะนั้น เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะประพฤติ ผิดในกามเป็นส่วนมาก
ง. โรรุวมหานรก คือ มหานรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องครวญคราง เหล่าสัตว์ต้องเสวยทุกขเวทนา ในดอกบัวเหล็ก โดยนอนคว่ำหน้าอยู่กลางดอกบัว ศีรษะจมเข้าไปแค่คาง ปลายเท้าจมลงไปแค่ข้อเท้า มือทั้งสองกางจมมิดแค่ข้อมือ แล้วเปลวไฟก็เผาไหม้ดอกบัวเหล็กพร้อมกับสัตว์นรก จะตายก็ไม่ตาย ต้องทรมานจนสิ้นอายุขัย เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะมีวจีกรรมชั่วหยาบเป็นส่วนมาก
จ. มหาโรรุวมหานรก คือ มหานรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องครวญครางมากมาย เหล่าสัตว์ต้อง ถูกลงโทษโดยเข้าไปยืนในดอกบัวเหล็ก ซึ่งมีกลีบที่แหลมคมและร้อนแรงมาก ถูกไฟนรกแผดเผาตั้งแต่ พื้นเท้าจนถึงศีรษะและแลบเข้าไปในทวารทั้ง ๙ เผาไหม้ทั้งข้างในข้างนอก เพราะมีเปลวไฟอันร้อนแรงเช่นนี้ นรกขุมนี้จึงมีชื่ออีกอย่างว่า ชาลโรรุวมหานรก มหานรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องครวญครางเพราะเปลวไฟ มิหนำซ้ำยังถูกนายนิรยบาลกระหน่ำตีศีรษะด้วยกระบองเหล็กมีไฟลุกโชนอีก เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะชอบเสพสุราและยาเสพติดต่างๆ เป็นส่วนมาก
ฉ. ตาปนมหานรก คือ มหานรกที่ทำสัตว์ให้เร่าร้อน เหล่าสัตว์ถูกบังคับให้ขึ้นไปบนปลายหลาวเหล็กใหญ่เท่าต้นตาล แดงฉานด้วยเปลวไฟ แล้วเสียบตนเองอยู่บนปลายหลาวนั้นจนเนื้อหนังสุกพอง อุปมาเหมือนเนื้อเสียบไม้ ปิ้งให้สุกบนถ่านไฟฉะนั้น เมื่อเนื้อสุกแล้วสุนัขนรกตัวใหญ่เท่าช้างสารก็วิ่งมางับ แล้วกระชากสัตว์นรกนั้นลงมาจากหลาวเหล็ก ด้วยความหิวกระหาย ฉีกเนื้อเคี้ยวกินจนเหลือแต่กระดูก เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะทำกรรมเกี่ยวกับการพนันเป็นส่วนมาก
ช. มหาตาปนมหานรก คือ มหานรกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนอย่างมากมายเหลือประมาณ เหล่าสัตว์ต้องได้รับทุกข์อันเกิดจากความร้อนของไฟนรกที่แรงที่สุด นรกขุมนี้ทั้งลึกทั้งกว้าง สัตว์นรกถูก นายนิรยบาลเอาดาบ แหลน หลาว ซึ่งลุกแดงด้วยเปลวไฟไล่ทิ่มแทง บังคับให้ขึ้นไปบนภูเขาไฟ แล้วถูกลมกรดอันร้อนแรงพัดตกลงมาถูกขวากหนามเบื้องล่างเสียบทะลุเลือดแดงฉาน เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะเป็นนักเลงอบายมุข คือทำอบายมุขทุกข้อ
ซ. อเวจีมหานรก คือ มหานรกที่ปราศจากคลื่น คือความเบาบางแห่งความทุกข์ระหว่างแห่ง เปลวไฟไม่มีว่างเว้นเลย ไม่ใช่บางคราก็หนัก บางคราก็เบาอย่างขุมอื่น อเวจีมหานรกนี้เป็นขุมใหญ่ที่สุด ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็กอันลุกโชนด้วยเปลวไฟ ภายในมีเปลวไฟร้อนระอุ ไหม้สัตว์นรกอยู่เนืองนิตย์ สัตว์นรก ในขุมนี้มีมากกว่าขุมอื่นๆ แออัดกันอยู่ภายในกำแพง การเสวยทุกข์นั้นแตกต่างกันไปหลายอิริยาบถ เช่น ถ้าเคยยืนทำบาปไว้ก็ต้องมาทนทุกข์ในท่ายืน ถ้าเคยเดินทำบาปก็ต้องมาทนทุกข์ในท่าเดิน เคยทำบาปกรรม ด้วยอาการอย่างไรก็ต้องมาเสวยทุกข์ด้วยอาการอย่างนั้น
เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะทำกรรมหนัก คือ อนันตริยกรรม ได้แก่ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาท ทำสังฆเภท

๑) อุสสทนรก (นรกขุมบริวาร)
อุสสทนรกเป็นนรกขุมบริวาร เมื่อสัตว์นรกใช้กรรมในมหานรก จนกระทั่งกรรมเบาบางลงแล้ว จะมารับกรรมในอุสสทนรกต่อไป
มหานรกขุมหนึ่งๆ มีอุสสทนรกตั้งอยู่โดยรอบทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๔ ขุม รวมเป็น ๑๖ ขุม เมื่อ รวมอุสสทนรกที่เป็นบริวารของมหานรกทุกขุมแล้ว จะมีจำนวนทั้งหมด ๑๒๘ ขุม อุสสทนรกทั้ง ๔ ขุมใน แต่ละทิศ นั้นมีชื่อเรียกของตัวเอง ซึ่งเป็นชื่อเหมือนกันกับอุสสทนรกในทิศอื่นๆ และเป็นเช่นนี้กับมหานรก ทุกขุม ต่างกันแต่เพียงความหนักเบาของทุกข์โทษเท่านั้น ดังนั้นจึงจะขอกล่าวถึงอุสสทนรกเพียง ๔ ขุม ตามลำดับโดยสังเขปดังต่อไปนี้

คูถนรก
นรกขุมนี้เต็มไปด้วยหมู่หนอนมีปากแหลมดังเข็ม ตัวโตเท่าช้างสาร คอยกัดกินเนื้อของสัตว์นรก จนหมดไม่เหลือแม้แต่กระดูก หนอนที่ตัวเล็กก็จะเข้าไปกัดกินอวัยวะภายในของสัตว์นรก

กุกกุฬนรก
เป็นนรกที่เต็มไปด้วยเถ้ารึงที่ร้อนแรงสำหรับแผดเผาสรีระของสัตว์นรกให้ไหม้เป็นจุลไป หากบาปกรรมยังไม่สิ้นก็ต้องได้รับทุกข์ทรมาน ตาย เกิด ตาย เกิด อยู่อย่างนี้ตลอดไป

อสิปัตตนรก
สัตว์นรกจะถูกใบมะม่วงนรกปลิวลงมากลายเป็นหอก เป็นดาบ ทิ่มแทงให้เป็นแผลเหวอะหวะ บางทีก็ขาดเป็นท่อนๆ เมื่อสัตว์นรกวิ่งหนีออกมา จะมีกำแพงเหล็กลุกเป็นไฟผุดขึ้นมากั้นขวางหน้าไว้ จากนั้นสุนัขนรก และแร้งนรกปากเหล็กตัวใหญ่โต ก็จะมารุมฉีกทึ้งกัดกินเนื้อ

เวตรณีนรก
สัตว์นรกถูกเครือหวายเหล็กบาดร่างกายให้เป็นแผล อยู่ในน้ำเค็ม แล้วก็เกิดเปลวไฟเผาไหม้ ทั้งๆ ที่อยู่ในน้ำเค็มนั้น เมื่อจมลึกลงไปก็ถูกกลีบบัว และใบบัวบาดร่างกายให้ขาดวิ่น ดิ้นทุรนทุรายประดุจ ปลาถูกทุบหัว และถูกนายนิรยบาลจ้วงแทงด้วยหอกแหลนหลาว เหมือนกับเราแทงปลาด้วยฉมวก จากนั้นนายนิรยบาลจะเอาเบ็ดนรกเกี่ยวขึ้นมานอนเหนือแผ่นเหล็กแดง เอาก้อนเหล็กแดงและน้ำทองแดง ใส่ปาก อวัยวะภายในลุกไหม้ไหลทะลักออกมา ไส้ใหญ่ไส้น้อยขาดกระจุยกระจายเรี่ยราดออกมาหมด
ยมโลก (นรกขุมย่อย)
สัตว์นรกเมื่อได้รับกรรมในอุสสทนรกแล้ว หากกรรมยังไม่สิ้น ก็ต้องมาเสวยทุกข์ในยมโลกต่อไป มหานรกขุมหนึ่งๆ มียมโลกตั้งอยู่โดยรอบทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๑๐ ขุม รวมเป็น ๔๐ ขุม เมื่อรวมยมโลกที่ตั้งอยู่ โดยรอบมหานรกทุกขุมแล้ว จะมีจำนวนทั้งหมด ๓๒๐ ขุม ยมโลกทั้ง ๑๐ ขุมในแต่ละทิศมีชื่อเรียกของตัวเองเป็นชื่อเหมือนกันกับยมโลกในทิศอื่นๆ และเป็นเช่นนี้กับมหานรกทุกขุม ต่างกันแต่เพียงความหนักเบา ของทุกข์โทษเท่านั้น
ส่วนเจ้าหน้าที่ในยมโลกที่คอยตัดสินโทษและลงทัณฑ์สัตว์นรก คือ กุมภัณฑ์ เป็นเทวดาที่มีนิสัยดุร้าย อาจเป็นพญายมราช สุวรรณเลขา สุวานเลขา หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ มิใช่เกิดจากแรงกรรมอย่างในมหานรก ยมโลกที่มีชื่อเรียกเหมือนกัน ๑๐ ขุม มีดังต่อไปนี้

๑ โลหกุมภีนรก สัตว์นรกถูกจับลงไปในหม้อเหล็กใบใหญ่เท่าภูเขาที่มีน้ำแสบ น้ำร้อนเดือดพล่านอยู่ตลอดเวลา บางทีนายนิรยบาลก็เอาเชือกเหล็กแดงรัดคอแล้วบิดจนคอขาด เหตุที่ได้รับกรรม เช่นนี้เพราะทำปาณาติบาต

๒ สิมพลีนรก สัตว์นรกชายหญิงผลัดกันปีนขึ้นไปหากันบนต้นงิ้วนรก ที่มีหนามเหล็กแหลม ลุกเป็นไฟ ถูกหนามงิ้วบาดจนตัวขาดทะลุ บางทีก็โดนแร้งกานรกปากเหล็กจิกทึ้งเนื้อกิน เหตุที่ได้รับกรรม เช่นนี้ เพราะประพฤติล่วงกาเมสุมิจฉาจาร

๓ อสินขนรกสัตว์ นรกมีเล็บมือเล็บเท้าที่ยาวและแหลมเป็นอาวุธ คอยถากตะกุยเนื้อหนัง ของตนกินเป็นอาหาร เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้ เพราะกระทำอทินนาทาน ลักเล็กขโมยน้อย ขโมยของสงฆ์ เป็นต้น

๔ ตามโพทกนรก สัตว์นรกนอนหงายเหนือแผ่นเหล็กแดง นายนิรยบาลเอาน้ำทองแดง ดือดพล่านในหม้อมากรอกปาก น้ำนรกลวกอวัยวะภายในจนแตกเปื่อยพังทลาย เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะดื่มสุราเมรัยเป็นนิตย์

๕ อโยคุฬนรก สัตว์นรกในขุมนี้มีแต่ความหิวโหย ครั้นเห็นก้อนเหล็กแดง ก็คิดว่าเป็นอาหาร เที่ยววิ่งเข้าไปยื้อแย่งกัดกิน ก้อนเหล็กแดงนั้นก็ไหม้ไส้พุงให้ขาดกระจัดกระจายเต็มไปหมด เหตุที่ได้รับ กรรมเช่นนี้ เพราะยักยอกทรัพย์ของส่วนรวม หรือทรัพย์ที่เขาบริจาคในการกุศลมาใช้สอยส่วนตน

๖ ปิสสกปัพพตนรก สัตว์นรกถูกภูเขานรกใหญ่ตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๔ กลิ้งมาบดทับ จนบี้แบน
กระดูกแตกป่นละเอียด เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะเป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองที่อันธพาลกดขี่ข่มเหงประชาชน พลเมืองให้เดือดร้อนกันไปทั่ว

๗ ธุสนรก สัตว์นรกมีความกระหายน้ำยิ่งนัก ครั้นเมื่อพบสระน้ำใสเย็น ก็ดื่มกินเข้าไป ด้วยอำนาจกรรมบันดาลให้น้ำนั้นกลับกลายเป็นแกลบ เป็นข้าวลีบลุกเป็นไฟ ไหม้ไส้ใหญ่ไส้น้อยให้ไหล ออกมาทางทวารเบื้องล่าง เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะเป็นพ่อค้าแม่ค้าทุจริต คดโกง เอาของแท้ปนของเทียม แล้วขาย เป็นต้น

๘ สีตโลสิตนรก สัตว์นรกต้องตกลงไปในน้ำที่เย็นยะเยือก และตายเพราะความเย็นนั้น พอ กลับเป็นขึ้นมาใหม่ก็ถูกจับโยนลงไปอีก เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะเป็นคนใจบาป จับสัตว์เป็นๆ โยนลงใน เหวในน้ำ เป็นต้น

๙ สุนขนรก เป็นนรกที่เต็มไปด้วยสุนัขนรก ๕ จำพวก คือ สุนัขดำ สุนัขขาว สุนัขเหลือง สุนัขแดง สุนัขด่าง คอยไล่ขบกัดสัตว์นรกอยู่ไม่ว่างเว้น เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะมีวาจาชั่ว ด่าว่าบิดา มารดา พี่ป้าน้าอา ผู้เฒ่าผู้แก่ ด่าทอผู้ทรงศีลทรงธรรมไม่เลือกหน้า

๑๐ ยันตปาสาณนรก สัตว์นรกถูกจับโยนเข้าไปให้ภูเขานรก ๒ ลูก บดกระทบกัน จนกระดูก ป่นปี้ เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้ เพราะเป็นผู้มีใจบาปหยาบช้า ด่าทอประหัตประหารคู่ครองของตน

โลกันตนรก
เป็นนรกขุมพิเศษ ที่มีแต่ความมืดมนอนธการ สัตว์นรกมีร่างกายใหญ่โต ใช้เล็บมือเล็บเท้าเกาะห้อยโหนอยู่ตามเชิงจักรวาล ครั้นปีนป่ายไปถูกเนื้อตัวเพื่อนสัตว์นรกด้วยกันก็คิดว่าเป็นอาหาร รี่เข้าคว้ากัดกิน ไล่ฟัดกันจนพลัดตกลงไปในทะเลน้ำกรดอันเย็นยะเยือก ฤทธิ์น้ำกรดกัดร่างกายจนเปื่อยพังแหลกละลายลง เมื่อกลับเป็นขึ้นมาใหม่ ก็รีบปีนขึ้นมาเกาะเชิงเขาจักรวาลอีก ต้องทุกข์ทรมานอย่างนี้ สิ้นกาลนาน ต่อเมื่อ พระพุทธองค์มาอุบัติขึ้นในโลก จึงปรากฏแสงสว่างขึ้นแวบหนึ่ง ชั่วสายฟ้าแลบ
เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะประพฤติตนเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างแรงกล้า เที่ยวกระทำอกุศลกรรม ด้วยใจบาปหยาบช้าสามานย์เป็นอาจิณ ประทุษร้ายท่านผู้ทรงศีลเป็นนิตย์ เป็นต้น

๒. เปตติวิสยภูมิ
เปตติวิสยภูมิ คือ ภูมิของเปรต เป็นโลกที่อยู่ของสัตว์ผู้ห่างไกลจากความสุข และมีสถานที่อยู่อาศัย ไม่แน่นอน เช่น ตามป่า ภูเขา เหว ทะเล เกาะ ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะความหิว ความอดอยากอาหาร เป็นยิ่งนัก และไม่มีเสื้อผ้าใส่ เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะทำอกุศลกรรมไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่อละโลกแล้ว จึงมาเป็นเปรต บางพวกต้องไปใช้กรรมในนรกก่อน เมื่อกรรมเบาบางลงแล้วจึงมาเป็นเปรต

เปรตมี ๑๒ จำพวก ได้แก่
๑. วันตาสเปรต เปรตกินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร
๒. กุณปาสเปรต เปรตกินซากศพคนหรือสัตว์ เป็นอาหาร
๓. คูถขาทกเปรต เปรตกินอุจจาระต่างๆ เป็นอาหาร
๔. อัคคิชาลมุขเปรต เปรตมีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ
๕. สุจิมุขเปรต เปรตมีปากเล็กเท่ารูเข็ม
๖. ตัณหัฏฏิตเปรต เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าว หิวน้ำอยู่เสมอ
๗. สุนิชฌามกเปรต เปรตมีลำตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา
๘. สัตถังคเปรต เปรตมีเล็บมือเล็บเท้ายาว คมเหมือนมีด
๙. ปัพพตังคเปรต เปรตมีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา
๑๐. อชครังคเปรต เปรตมีร่างกายเหมือนงูเหลือม
๑๑. เวมานิกเปรต เปรตที่เกิดในวิมาน กลางวันเสวยทุกข์ กลางคืนเสวยสุขอยู่ในวิมาน
๑๒. มหิทธิกเปรต เปรตมีฤทธิ์มาก ปกครองดูแลเปรตอื่นๆ อยู่ในป่าเชิงเขาหิมาลัย
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งชนิดของเปรตอย่างอื่นอีก แต่มีเปรตอยู่ชนิดหนึ่งที่มีโอกาสรับส่วนบุญที่หมู่ญาติอุทิศให้ได้ คือ ปรทัตตูปชีวีเปรต เปรตชนิดอื่นๆ นอกนี้ไม่สามารถรับได้ เพราะปรทัตตูปชีวีเปรต มักเกิดอยู่ในบริเวณบ้าน จึงทราบการทำกุศลของหมู่ญาติและอนุโมทนาบุญได้

๓. อสุรกายภูมิ
อสุรกายภูมิ คือ ภูมิที่อยู่ของสัตว์ซึ่งปราศจากความร่าเริง สนุกสนาน ต้องเสวยทุกขเวทนาเพราะ ความหิวกระหายอยู่ตลอดเวลา อสุรกายบางตัวมีร่างกายผ่ายผอม สูงชะลูด ไม่มีเนื้อเลือดในร่างกาย มีแต่ หนังหุ้มกระดูก ตัวเหม็นสาบ มีดวงตาที่เล็กมากและตั้งอยู่บนศีรษะ ตรงกระหม่อม ปากเล็กเท่ารูเข็ม และตั้งอยู่ใกล้ดวงตา เหตุนี้จึงลำบากในการหาอาหาร เวลาจะกินก็ลำบาก ต้องเอาศีรษะปักลงมา แล้วเอาเท้าชี้ฟ้า เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะทำกรรมโดยมีโลภเจตนาแรงกล้า เที่ยวปล้นลักขโมย ฉ้อโกงทรัพย์สมบัติผู้อื่น ทำลายสมบัติของผู้อื่นและของสาธารณะ ลักขโมยของสงฆ์ เป็นต้น
อสุรกายมี ๓ ประเภท ได้แก่
๑. เทวอสูร มีความเป็นอยู่คล้ายเทวดา อาศัยอยู่ใต้ภูเขาสุเนรุ บริเวณสามเส้าที่รองรับ
เขาพระสุเมรุ เรียกว่าเขาตรีกูฏ เป็นอุโมงค์ใหญ่ มีที่อยู่สุขสบาย
๒. เปตติอสูร มีความเป็นอยู่คล้ายเปรต ต้องเสวยทุกขเวทนาเป็นส่วนมาก
๓. นิรยอสูร อยู่ในโลกันตนรก ต้องทนทุกข์ทรมานมากที่สุด
ตามที่กล่าวมาจะเห็นว่าอสุรกายมีภาวะที่คล้ายเปรตอยู่มาก แต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน คือ การประสบทุกขเวทนาของเปรตนั้น เป็นความอดอยากอาหาร ต้องทนทุกข์เพราะความหิวโหย ส่วนของ อสุรกายนั้นต้องเสวยทุกข์เพราะความกระหายน้ำ บางตัวไม่เคยถูกแม้น้ำสักหยดนานถึง ๒-๓ พุทธันดร
อนึ่ง อสุรกายนี้มีร่างกายที่แปลกประหลาดกว่าเปรตอยู่มาก เห็นแล้วน่าเกลียดน่ากลัวยิ่งนัก
แม้ชีวิตความเป็นอยู่ก็ลำบากกว่าเปรตมากมาย เขาจึงมีความละอาย ไม่กล้าปรากฏกายให้ใครเห็น
ด้วยเหตุนี้จึงถูกเรียกว่า อสุรกาย (อสุร แปลว่า ไม่กล้า)

๔. ติรัจฉานภูมิ
ติรัจฉานภูมิ คือ โลกของสัตว์ผู้ไปโดยขวาง คือเวลาจะไปไหน มาไหน ต้องไปโดยอาการขวาง ลำตัว ต้องคว่ำอกไป เช่น สุนัข แมว หนู ไก่ เป็ด งู ปลา เป็นต้น นอกจากร่างกายต้องไปอย่างขวางๆ แล้ว จิตใจยังขวางอีกด้วย คือขวางจากมรรคผลนิพพาน แม้จะทำความดีเท่าไรก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินั้นได้ อย่างมากที่สุดก็เพียงไปสวรรค์เท่านั้น
ติรัจฉานภูมิ หรือโลกของสัตว์เดรัจฉานนี้ ไม่ต้องเสวยทุกขเวทนาแรงกล้าอย่างสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ยังพอจะมีความน่าชื่นชมยินดีอยู่บ้าง เพราะมีอกุศลเบาบาง แม้จะต้องประสบความลำบากอย่างไร ก็ยังมีความน่ายินดีอยู่ ๓ ประการ คือ การกิน การนอน และการสืบพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ ติรัจฉานภูมิจึง มีความหมายได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นโลกของสัตว์ที่มีความยินดีในเหตุ ๓ ประการ
๑. อปทติรัจฉาน คือ สัตว์เดรัจฉานที่ไม่มีเท้า ได้แก่ งู ปลา ไส้เดือน เป็นต้น
๒. ทวิปทติรัจฉาน คือ สัตว์เดรัจฉานที่มี ๒ เท้า ได้แก่ ไก่ เป็ด แร้ง กา เป็นต้น
๓. จตุปทติรัจฉาน คือ สัตว์เดรัจฉานที่มี ๔ เท้า ได้แก่ สุนัข แมว ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น
๔. พหุปทติรัจฉาน คือ สัตว์เดรัจฉานที่มีมากกว่า ๔ เท้าขึ้นไป ได้แก่ มด ปลวก ตะขาบ เป็นต้น
สัตว์เดรัจฉานที่มีชีวิตอยู่ในภูมิเดียวกับมนุษย์ เราสามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ไม่เหมือนกับสัตว์ในอบายภูมิอื่นๆ เช่น เปรต อสุรกาย ที่เป็นอทิสสมานกาย คือมีกายไม่ปรากฏ สัตว์เดรัจฉานไม่มีที่อยู่ของตน โดยเฉพาะ เที่ยวไปๆ มาๆ อยู่บนพื้นปฐพีนี้ มีความเป็นอยู่ลำบากกว่ามนุษย์มากมาย มีภัยรอบด้าน ทั้งภัยจากมนุษย์ ภัยจากสัตว์ใหญ่อื่นๆ ภัยจากความอดอยาก ภัยจากที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ส่วนสัตว์เดรัจฉานอีกประเภทหนึ่ง เป็นสัตว์เดรัจฉานชั้นดี อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นพวก
กายละเอียด ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตามนุษย์
เหตุที่ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ส่วนใหญ่มาจากกิเลสตระกูลโมหะ คือความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่น หลงยึดติดกับบุคคล หรือทรัพย์สมบัติ เป็นต้น บ้างก็เพราะเคยทำอกุศลกรรมไว้ในชาติก่อน เมื่อพ้นกรรมจากนรกแล้ว เศษกรรมก็นำให้มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือบางพวกเมื่อใช้กรรมในนรกแล้ว ต้องไปเกิดเป็นเปรตและอสุรกายก่อน เมื่อเศษกรรมเบาบางลงจึงมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน และมักจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานซ้ำๆ อยู่หลายชาติ เป็นชนิดเดิมบ้าง บางทีก็เปลี่ยนชนิด มีโอกาสทำกุศลกรรมน้อยมาก

๕. เทวภูมิ ๖
เทวภูมิ หรือ สวรรค์ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเทวดา เป็นโลกที่อยู่อาศัยแห่งสัตว์อันเป็นทิพย์ มี รัศมีสว่างไสวรอบกายตลอดเวลา เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดาเพราะสร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันที เรียกว่าถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ ไม่ต้องนอนในครรภ์มารดาหรืออยู่ในฟองไข่ก่อน ส่วนจะอุบัติขึ้น ณ สวรรค์ชั้นไหน เป็นเทวดาประเภทใด และอยู่ในฐานะอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับบุญที่ตัวเองสั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์
สวรรค์มี ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ ตาวติงสเทวภูมิ ยามาเทวภูมิ ตุสิตาเทวภูมิ
นิมมานรดีเทวภูมิ และปรนิมมิตวสวัตดีเทวภูมิ

สวรรค์ชั้นที่ ๑ จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาซึ่งมีท้าวจาตุมหาราชเป็นผู้ปกครอง ท่านปกครองตั้งแต่บนสวรรค์ลงไป จนถึงพื้นมนุษย์ สวรรค์ชั้นนี้เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ ตั้งอยู่ที่เขาพระสุเมรุ เป็นเหมือนเมืองประเทศราชของ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ใกล้กับแผ่นดินมนุษย์มากกว่าสวรรค์ชั้นอื่นๆ สวรรค์ชั้นนี้มีเมืองใหญ่เป็นเทพนครอยู่ถึง ๔ แห่ง แต่ละแห่งมีสถานที่อันน่ารื่นรมย์มากมาย เช่น สระโบกขรณีมีน้ำใสยิ่งกว่าแก้ว เต็มไปด้วยดอกบัว นานาชนิดส่งกลิ่นหอมตลบไปทั่ว มีต้นไม้สวรรค์อันวิจิตร มีดอกไม้อันเป็นทิพย์สีสันสดสวยตระการตา ผลไม้ทิพย์มีรสโอชาอยู่ตลอดกาล ไม่มีวันร่วงโรยและหมดไป

เทพนครทั้ง ๔ แห่งมีผู้ปกครอง ดังต่อไปนี้

๑. ท้าวธตรฐ ปกครองสวรรค์ด้านทิศตะวันออก มีหน้าที่ปกครองเทวดา ๓ พวก ได้แก่ คนธรรพ์ วิทยาธร และกุมภัณฑ์
คนธรรพ์เป็นเทวดาที่เกิดอยู่ตามไม้หอม ๑๐ จำพวก ได้แก่ รากไม้ แก่นไม้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ น้ำหอม ตะคละต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เหง้าใต้ดิน คนธรรพ์มี ๓ ประเภท ได้แก่ คนธรรพ์ชั้นสูง ชั้นกลาง และชั้นล่าง คนธรรพ์ชั้นสูงมีวิมานอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เช่น ปัญจสิกขเทวบุตร มีเทพธิดาประจำ อยู่ในวิมาน คนธรรพ์ชั้นกลาง เกิดอยู่ในป่าหิมพานต์ มีวิมานอยู่ในต้นไม้ เป็นบริวารของคนธรรพ์ชั้นสูง ส่วนคนธรรพ์ชั้นล่างอยู่บนพื้นมนุษย์ เป็นชาวพื้นบ้าน มีทั้งที่มีครอบครัว และไม่มีครอบครัว สิงอยู่ในต้นไม้จำพวกไม้หอม เช่น นางตะเคียน นางตานี คนธรรพ์มีความถนัดในการดนตรี การละคร ระบำรำฟ้อน ศิลปะ วรรณกรรม กวีนิพนธ์ เมื่อมีเทวสมาคมครั้งใดคนธรรพ์มักทำหน้าที่ขับกล่อมให้ความสำราญแก่ หมู่ทวยเทพทั้งหลาย คนธรรพ์นี้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำบุญเจือด้วยกามคุณ จึงได้มาเกิดเป็นคนธรรพ์
วิทยาธรเป็นพวกที่ทรงความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ เป็นพวกที่ศึกษา ศาสตร์ต่างๆ เช่น แพทยศาสตร์ โหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น พวกนี้เหาะได้ มีเวทมนตร์ คาถา อาคม ต่างๆ วิทยาธรมีรูปร่างหลากหลาย อยู่แบบเดี่ยวก็มี อยู่เป็นหมู่เป็นกลุ่มก็มี มีคู่ครองก็มี ไม่มีคู่ครองก็มี เป็นทั้งฤาษี นักบวช นักพรต คล้ายๆ มนุษย์ธรรมดาก็มี ส่วนกุมภัณฑ์มีรูปร่างแปลก หน้าตาพองๆ ไม่น่ากลัว เหมือนยักษ์ และก็ไม่ใช่ยักษ์ ไม่มีเขี้ยว ผมหยิกๆ ผิวดำ ท้องโต พุงโร และมีอัณฑะเหมือนหม้อ กุมภัณฑ์ มีตั้งแต่ชั้นสูงจนถึงชั้นล่าง มีหน้าที่ลงไปทรมานสัตว์นรกในยมโลก

๒. ท้าววิรุฬหก ปกครองสวรรค์ด้านทิศใต้ มีหน้าที่ปกครองพวกครุฑ เหตุที่มาเกิดเป็นครุฑ เพราะทำบุญเจือด้วยมานะทิฏฐิ มีความถือตัวอยู่มาก

๓. ท้าววิรูปักษ์ ปกครองสวรรค์ด้านทิศตะวันตก มีหน้าที่ปกครองพวกนาค เหตุที่มาเกิดเป็นนาคเพราะทำบุญเจือด้วยมานะทิฏฐิ มีความถือตัวอยู่มาก

๔. ท้าวเวสสวัณ หรือ ท้าวกุเวรมหาราช ปกครองสวรรค์ด้านทิศเหนือ มีหน้าที่ปกครองพวกยักษ์ ซึ่งมีทั้งที่รูปร่างสวยงามมีรัศมี และพวกที่รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว เช่น รากษส เป็นยักษ์น้ำที่มีนิสัยดุร้าย เป็นต้น เหตุที่มาเกิดเป็นยักษ์เพราะทำบุญเจือด้วยความโกรธ มักหงุดหงิดรำคาญใจเป็นอาจิณ
นอกจากนี้ยังมีเทวดาพวกอื่นอีก ซึ่งเป็นเทวดาชั้นล่าง ได้แก่ ภุมมเทวา รุกขเทวา และอากาสเทวา
ภุมมเทวาเป็นเทวดาที่อาศัยอยู่บนพื้นมนุษย์ อยู่ตามจอมปลวก เนินดิน ใต้ดิน ภูเขา แม่น้ำ บ้าน เจดีย์ ศาลา ซุ้มประตู เป็นต้น บางองค์มีวิมานเป็นของตัวเอง บางองค์ก็ไม่มี
รุกขเทวาอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้หรือยอดไม้ต่างๆ ซึ่งสูงขึ้นไปกว่าพวกภุมมเทวา มีทั้งที่มีวิมานและไม่มีวิมาน
อากาสเทวามีวิมานอยู่ในอากาศ สูงขึ้นไปจากพื้นดิน ๑ โยชน์ เทวดาเหล่านี้อยู่ในปกครองของ ท้าวจาตุมหาราชิกา
อนึ่ง คนธรรพ์กับรุกขเทวามีความแตกต่างกัน คือ คนธรรพ์จะอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ตลอดไป
ไม่ยอมทิ้งที่อยู่อาศัย แม้ต้นไม้นั้นจะผุพัง โค่นล้ม หรือถูกตัดเอาไปสร้างบ้านเรือนก็ตาม แต่พวกรุกขเทวา หากมีผู้ทำลายต้นไม้ที่ตนอยู่ ก็จะย้ายวิมานไปอยู่ต้นไม้ต้นอื่น
ในสวรรค์ชั้นนี้ยังมีป่าหิมพานต์ เป็นป่าที่มีสีทอง มีพื้นเป็นทอง ใบไม้เป็นสีทอง อยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งแต่เดิมเชื่อมติดกับแผ่นดินของ ๔ ทวีป พอมนุษย์ทำบาปหนักเข้า แผ่นดินจึงก็แยกจากกันดังปรากฏใน ชาดกหลายๆ เรื่อง ทำให้ติดต่อไปมาหาสู่กันไม่ได้ ในป่าหิมพานต์นี้มียอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด มีแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย คือ คงคา ยมุนา สรภู อจิรวดี มหิมา มีสระใหญ่ ๗ สระ คือ อโนดาต กัณณมุณฑะ รถกาละ ฉัททันตะ มัณฑากินี สีหปปาตะ กุณาละ เฉพาะที่สระอโนดาตมีภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบ คือ เขาสุทัสสนะ เขาจิตตกูฏ เขากาฬกูฏ เขาไกรลาส เขาคันธมาทน์ ที่เขาคันธมาทน์นี้ มีเงื้อมเขาหนึ่งชื่อ นันทมูลกะ เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า มีถ้ำอยู่ ๓ แห่ง คือ ถ้ำทอง ถ้ำแก้ว ถ้ำเงิน
ในป่าหิมพานต์มีสัตว์รูปร่างพิสดารมากมาย เช่น กินนร กินนรี พญานาค พญาครุฑ ติณณราชสีห์ กาฬราชสีห์ ปัณฑุราชสีห์ ไกรสรราชสีห์ คชสีห์ ช้างบางประเภท นกการเวก นกอินทรีย์ ปลาใหญ่ และมี ต้นมักกะลีผล หรือนารีผล ซึ่งมีผลเป็นนารี เป็นที่หมายปองของเหล่าเทวดาพวกคนธรรพ์และวิทยาธรในป่าหิมพานต์ทั้งหลาย

สวรรค์ชั้นที่ ๒ ตาวติงสเทวภูมิ
เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ดาวดึงส์ เป็นที่อยู่ของเทวดาซึ่งมีเทพ ๓๓ องค์เป็นผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นเทพนครอันกว้างใหญ่ไพศาล มีปราสาทแก้วอันเป็นทิพย์ล้อมรอบ
ด้วยกำแพงแก้วอันมีประตูถึงพันแห่ง ที่ศูนย์กลางภพมีปราสาทอันงดงามประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ ชื่อว่าไพชยันตปราสาท หรือเวชยันตปราสาท อันเป็นที่ประทับของท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นผู้ปกครองสูงสุดของสวรรค์ชั้นนี้ มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓๓ เขต แต่ละเขตมีสหายสนิทของพระอินทร์ ๓๒ องค์ เป็นผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้มีเทวดาที่เป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระสกิทาคามี พระโสดาบัน เทวดาที่เข้าถึงไตรสรณาคมน์ และเทวดาทั่วไป

สวรรค์ชั้นที่ ๓ ยามาเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวสุยามะเป็นผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้ ตั้งอยู่สูงขึ้นไปเบื้องบนไกลแสนไกลจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พื้นสวรรค์ไม่มีแผ่นดินรองรับเหมือนอย่างสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และจาตุมหาราชิกา และแสงของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ส่องไปไม่ถึง เหล่าเทพมองเห็นได้ด้วยอาศัยรัศมีกายของตัวเอง การจะรู้วันและคืนได้นั้นอาศัยดอกไม้ทิพย์ เวลากลางวันจะบาน เวลากลางคืนจะหุบลง

สวรรค์ชั้นที่ ๔ ตุสิตาเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวสันดุสิตเป็นผู้ปกครอง ชาวสวรรค์เป็นผู้มีความยินดีและความแช่มชื่น อยู่เป็นนิตย์ บนสวรรค์มีปราสาท วิมานอยู่มากมาย ล้วนวิจิตรตระการตาเกินจะพรรณนา เหล่าเทพมีรูปทรง สวยงามสง่า มีจิตยินดีในการฟังธรรมยิ่งนัก สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่ที่เหล่าพระโพธิสัตว์และนักสร้างบารมีทั้งหลาย เลือกที่จะใช้เป็นที่พักระหว่างทางในการสร้างบารมี เช่นองค์ปัจจุบันที่จะตรัสรู้เป็นพระศรีอริยเมตไตรย- พุทธเจ้าก็ประทับ ณ สวรรค์ชั้นนี้
ชาวสวรรค์ชั้นนี้มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นพวกที่มีใจใหญ่ ตั้งใจจะทำบุญเพื่อสงเคราะห์ชาวโลก บางพวกเมื่อโอกาสเหมาะแก่การสร้างบารมีบนโลกมนุษย์มาถึง ก็จะอธิษฐานจิตแล้วจุติลงมาเกิดเพื่อสร้างบารมี วิมานยังคงอยู่บนสวรรค์ ส่วนชาวสวรรค์ชั้นอื่นจุติเมื่อสิ้นอายุขัยหรือหมดบุญ เมื่อลงมาแล้ว วิมานก็หายไป

สวรรค์ชั้นที่ ๕ นิมมานรดีเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวสุนิมมิตเป็นผู้ปกครอง ชาวสวรรค์ชั้นนี้หากมีความปรารถนาจะเสวยสุข ด้วยกามคุณสิ่งใด ก็สามารถเนรมิตเอาได้ดั่งใจทุกประการ

สวรรค์ชั้นที่ ๖ ปรนิมมิตวสวัตตีเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวปรนิมมิตวสวัตดีเป็นผู้ปกครอง เป็นสวรรค์ชั้นที่สูงที่สุดและกว้างใหญ่ ที่สุดในบรรดาสวรรค์ทั้งหมด ได้รับสุขสมบัติยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นใดๆ หากชาวสวรรค์มีความปรารถนาสิ่งใดแล้ว จะมีเทวดาอื่นรู้ความปรารถนาของตนแล้วเนรมิตให้ได้ดั่งใจทุกประการ

เหตุแห่งการเกิดในสวรรค์แต่ละชั้น
บุคคลที่จะถือกำเนิดบนสวรรค์นั้น เมื่อเป็นมนุษย์ต้องหมั่นสร้างความดี สั่งสมบุญ บำเพ็ญบารมี หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ผลแห่งความดีนั้นจะนำให้ไปเกิดบนสวรรค์ จะได้เสวยทิพยสมบัติ ที่ละเอียดประณีตแตกต่างกัน มีรัศมีกายมากน้อยต่างกันเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการทำความดี ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น ๔ ประการ ดังต่อไปนี้
๑. ทำความดีเพราะความกลัว คือทำความดีเผื่อเอาไว้ว่า หากนรกมีจริง ความดีนี้ก็จะช่วยตนให้ ไม่ต้องตกนรกได้ อย่างนี้ทำความดีได้ไม่เต็มที่ อุปมาเหมือนเด็กอนุบาลทำดีเพราะกลัวครู หรือพ่อแม่ตี เมื่อละโลกแล้ว ผลบุญส่งให้ไปเป็นได้เพียงภุมมเทวา รุกขเทวา หรืออากาสเทวา
๒. ทำความดีเพราะหวังสิ่งตอบแทน เมื่อทำความดีครั้งใด ใจจะคอยแต่คิดหวังลาภหรือของ
รางวัลต่างๆ กลับคืนมา อุปมาเหมือนเด็กประถมทำดีเพื่อให้ครูแจกขนมหรือให้พ่อแม่ซื้อของเล่นให้ เมื่อ ละโลกแล้วผลบุญส่งให้ไปเป็นเทวดาไม่สูงไปกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๓. ทำความดีเพราะหวังคำชม ต้องได้รับคำสรรเสริญจึงจะมีกำลังใจทำความดี อุปมาเหมือน เด็กมัธยมทำดีเพราะอยากได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เมื่อละโลกแล้วผลบุญส่งให้ไปเป็นเทวดา ไม่สูงไปกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๔. ทำความดีเพื่อความดี คือทำความดีเพราะคิดว่านั่นเป็นความดี เป็นสิ่งที่ควรทำ ใครจะให้หรือไม่ให้ของใดๆ ก็ยังทำความดี ใครจะชมหรือไม่ชมก็ยังทำความดี เพราะมั่นใจในความดีที่ตนทำ อุปมาเหมือนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ทำดีเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ เมื่อละโลกแล้ว ผลบุญส่งให้ไปเป็นเทวดาตั้งแต่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความประณีตของใจในขณะทำความดี

๖. รูปภพ
รูปภพ หรือ พรหมโลก คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม พรหมโลกนี้อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่า เทวโลก มีทิพยสมบัติทั้งหลาย ที่มีความสวยงามประณีตกว่าในเทวโลก
พรหม คือ ผู้ที่มีความเจริญอยู่ด้วยคุณพิเศษ มีฌาน เป็นต้น รูปร่างของพรหมนั้นไม่ปรากฏว่าเป็น หญิงหรือชาย เพราะพรหมไม่มีกามฉันทะอย่างหยาบ แม้ตั้งแต่ในสมัยที่เป็นมนุษย์ก็ข่มได้อยู่แล้วขณะ กระทำฌานให้เกิด อย่างไรก็ดียังมีรูปร่างคล้ายชายมากกว่า ผู้ที่เจริญสมาธิภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงรูปฌาน เมื่อละโลกแล้วจะมาบังเกิดเป็นรูปพรหมอยู่ในรูปภพ ซึ่งระดับความแก่อ่อนของฌานนั้นก็แตกต่างกัน ไปตามภูมิที่อยู่มีทั้งหมด ๑๖ ชั้น แบ่งย่อยออกเป็นภูมิชั้นต่างๆ ดังนี้

ปฐมฌานภูมิ ๓
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้ปฐมฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน มิได้ตั้งอยู่สูงต่อๆ กันไปตาม ลำดับชั้นอย่างสวรรค์ ประกอบด้วย
พรหมปาริสัชชา เป็นพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างอ่อน เป็นพรหมธรรมดาสามัญ ไม่มีอำนาจพิเศษ อันใด เป็นบริวารของมหาพรหม
พรหมปุโรหิตา เป็นพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างกลาง เป็นพรหมปุโรหิต (ที่ปรึกษา) ของมหาพรหม และอยู่ในตำแหน่งผู้นำในกิจการทั้งหลายของมหาพรหม
มหาพรหมา เป็นพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างแก่ เป็นพรหมที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งกว่าพรหม- ปาริสัชชา และพรหมปุโรหิตา ในมหาพรหมาภูมิ ยังเป็นที่อยู่ของท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งเป็นผู้ทูลอาราธนา ให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ พรหมที่ได้ฌานอย่างแก่ มีบุญมาก มีรัศมีสว่างไสว จะอยู่ที่ศูนย์กลางภพ ส่วนพรหมที่มีกำลังฌานรองลงไป ก็จะอยู่ถัดออกไปโดยรอบ

ทุติยฌานภูมิ ๓
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้ทุติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นปฐมฌานภูมิ ประกอบด้วย
ปริตตาภา เป็นพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างอ่อน มีรัศมีน้อยกว่า พรหมที่อยู่เบื้องบน (ปริตตะ แปลว่า น้อย อาภา แปลว่า รัศมี ความสว่าง)
อัปปมาณาภา เป็นพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างกลาง มีรัศมีหาประมาณมิได้
อาภัสสรา เป็นพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างแก่ มีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากร่างกาย มีความยินดีใน
ฌานของตนอย่างเต็มที่ เป็นไปด้วยอำนาจของปีติอยู่เสมอ จิตใจจึงมีความผ่องใสมากอยู่เสมอ ส่งผลให้กาย ผ่องใสจนปรากฏออกมาเป็นรัศมีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย

ตติยฌานภูมิ ๓
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้ตติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นทุติยฌานภูมิ ประกอบด้วย
ปริตตสุภา เป็นพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างอ่อน มีรัศมีสวยงามเช่นเดียวกับรัศมีของดวงจันทร์ เป็น ความสว่างที่ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน รัศมีรวมกันอยู่เป็นวงกลม แต่ยังสวยงามน้อยกว่าพรหมที่ อยู่เบื้องบน
อัปปมาณสุภา เป็นพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างกลาง มีรัศมีสวยงามหาประมาณมิได้
สุภกิณหา เป็นพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างแก่ มีรัศมีสวยงามตลอดทั่วร่างกาย

จตุตถฌานภูมิ ๒
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้จตุตถฌาน ประกอบด้วย
เวหัปผลา เป็นพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือเป็นผลของกุศลที่มั่นคงไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษ
ตามอำนาจของฌาน ผลของกุศลในชั้นปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ และตติยฌานภูมิ ไม่สามารถบังเกิด ในชั้นเวหัปผลาภูมิได้ เพราะเมื่อยามโลกถูกทำลาย ภูมิทั้ง 3 ระดับย่อมถูกทำลายไปด้วย
ในบรรดาพรหมทั้ง ๙ ภูมิที่กล่าวมา สุภกิณหามีอายุยืนมากกว่าพรหมอื่นๆ ที่เกิดอยู่ในภูมิต่ำกว่า คือมีอายุขัยถึง ๖๔ มหากัป โดยพรหมองค์ที่มีอายุเต็ม ๖๔ มหากัป ต้องเป็นองค์ที่อุบัติขึ้นพร้อมการ สร้างโลกใหม่ ส่วนองค์ที่เกิดตามมาภายหลังย่อมมีอายุลดลงตามลำดับ เมื่อครบกำหนด ๖๔ มหากัป ตติยฌานภูมินี้จะถูกทำลายด้วยลมทุกครั้งไป สำหรับเวหัปผลาภูมิพ้นจากการถูกทำลายทั้งด้วยไฟ น้ำ และลม พรหมทุกองค์ที่บังเกิด ณ ที่นี้จึงมีอายุขัยได้เต็มที่ คือ ๕๐๐ มหากัปเสมอไป
อสัญญีสัตตา เป็นพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีแต่รูปขันธ์ คือดับ ความรู้สึกข้างนอกหมด ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น แต่กิเลสยังไม่ดับ มีรูปร่างผิวพรรณงดงามคล้ายพระพุทธรูป- ทองคำ มีอิริยาบถ ๓ อย่าง คือ นั่ง นอน หรือยืน แล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนิ่งๆ แข็งทื่ออยู่อย่างนั้นจนครบอายุขัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า พรหมลูกฟัก
จตุตถฌานภูมิทั้ง ๒ นี้ตั้งอยู่กลางอากาศ สูงกว่าตติยฌานภูมิ พรหมใน ๒ ชั้นนี้สามารถมองเห็น ซึ่งกันและกัน และมองเห็นพรหมชั้นที่อยู่ต่ำกว่าได้ ส่วนพรหมชั้นต่ำกว่าไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้
รูปพรหมทั้ง ๑๑ ชั้นเหล่านี้ แม้ว่าจะมีอายุยืนยาวมากก็ตาม ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็น พรหมด้วยกันทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิก็เป็นได้ ทิพยสมบัติ อิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืนต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย

สุทธาวาสภูมิ ๕
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าชั้นอนาคามี สุทธาวาสภูมิ แบ่งออกเป็น ๕ ชั้น
ตามความแก่อ่อนของบารมี โดยดูจากอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ดังนี้
อวิหา มีอินทรีย์อ่อนที่สุด ศรัทธามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่ไม่ ละทิ้งสถานที่ของตน คือต้องอยู่จนครบอายุขัยจึงจุติ ไม่มีการเสื่อมจากสมบัติของตน มีทิพยสมบัติบริบูรณ์เต็มที่ อยู่เสมอจนตลอดอายุขัย สำหรับพรหมชั้นสูงที่เหลืออีก ๔ ชั้น อาจไม่ได้อยู่จนครบอายุขัย มีการจุติได้ก่อน
อตัปปา วิริยะมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะย่อมเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมที่เป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนไม่อาจเกิดขึ้น จิตใจจึงมีแต่ความสงบเยือกเย็น
สุทัสสา สติมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่เห็นสิ่งต่างๆ โดยปรากฏชัด เพราะบริบูรณ์ด้วยจักษุทั้งหลาย ได้แก่ ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ธัมมจักษุ ปัญญาจักษุที่บริสุทธิ์ พรหมในชั้นนี้มีร่างกายสวยงามมาก ผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมเกิดความสุขใจ สุทัสสา จึงหมายความว่า ผู้ที่ผู้อื่นเห็น ด้วยความเป็นสุข
สุทัสสี สมาธิมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่แลเห็นสิ่งต่างๆ โดย สะดวก มีการเห็นบริบูรณ์ด้วยดียิ่งกว่า สุทัสสาพรหม ว่าโดยจักษุ ๔ ประการแล้ว ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้งสามอย่างนี้มีกำลังมากยิ่งกว่าสุทัสสาพรหม มีแต่ธัมมจักษุเท่านั้นที่มีกำลังเสมอกัน
อกนิฏฐ มีอินทรีย์แก่ที่สุด ปัญญามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่มี ทิพยสมบัติและความสุขที่ยอดเยี่ยม มีคุณสมบัติยิ่งกว่ารูปพรหมทุกชั้น รูปพรหมชั้นที่ ๑ ถึง ชั้นที่ ๔ ใน สุทธาวาสภูมินี้ ขณะยังไม่เป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติในชั้นของตนแล้ว จะเลื่อนไปบังเกิดในชั้นสูงขึ้นไป ไม่เกิดซ้ำภูมิหรือไม่เกิดในภูมิต่ำกว่า แต่สำหรับอกนิฏฐพรหมย่อมไม่ไปบังเกิดในภูมิอื่นอีกเลย จะต้อง ปรินิพพานในภูมินี้
ในอกนิฏฐภูมิ มีปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่ง คือ ทุสสเจดีย์ เป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของ เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสวมใส่ในขณะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โดยฆฏิการพรหมลงมาจากชั้นอกนิฏฐภูมิ นำเอาเครื่องบริขารทั้ง ๘ ถวายแด่พระสิทธัตถะ และรับเอาเครื่องฉลองพระองค์ไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ มีความสูง ๑๒ โยชน์
สุทธาวาสภูมิ จะมีขึ้นในระยะที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเท่านั้น เพราะเป็นที่อยู่ของอนาคามีบุคคล ถ้าพระพุทธศาสนายังไม่บังเกิด พระอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นับเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นเฉพาะกาล โดยธรรมชาติ อายุของสุทธาวาสภูมิจะไม่เกินอายุรวมของทั้ง ๕ ชั้นในภูมินี้รวมกัน (ประมาณ ๓๑,๐๐๐ มหากัป) เพราะไม่ว่าพระอริยบุคคลจะเกิดอยู่ในภูมิใด ในมนุษย์ เทวดา รูปพรหม ก็จะพากันปรินิพพานจนหมด ดังนั้นสุทธาวาสภูมิจะหายไป และจะบังเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นใน โลกมนุษย์ หมุนเวียนอยู่ดังนี้

๗. อรูปภพ
อรูปภพ คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของอรูปพรหม อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปภพ มีทิพยสมบัติทั้งหลาย ที่มีความสวยงามประณีตกว่าในรูปภพ
อรูปพรหม คือ พรหมที่ไม่ใช่รูปพรหม มีกายอันสวยงาม ประณีต ละเอียด สว่างไสวกว่ารูปพรหม อุบัติขึ้นเพราะเหตุแห่งการบำเพ็ญอรูปฌานกุศล ฌานที่บังเกิดขึ้นเรียกว่าอรูปฌาน เมื่อตายลงในขณะที่ ฌานยังไม่เสื่อมย่อมบังเกิดในอรูปภพ พรหมชนิดนี้จัดว่าเป็นอภัพพสัตว์ ไม่สามารถมาตรัสรู้หรือพ้นจากทุกข์ได้ในชาตินั้น (อสัญญีสัตตาพรหม จัดเป็นอภัพพสัตว์เช่นเดียวกัน) อรูปภพแบ่งออกเป็น ๔ ชั้น ตามความสูงต่ำของอำนาจฌาน ดังนี้
๑. อากาสานัญจายตนภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน คือ
บำเพ็ญฌานโดยเอาอากาศ ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ มีอายุ ๒๐,๐๐๐ มหากัป
๒. วิญญาณัญจายตนภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน คือ
บำเพ็ญฌานโดยเอาความรู้สึกว่า มีอากาศมาเป็นอารมณ์ มีอายุ ๔๐,๐๐๐ มหากัป
๓. อากิญจัญญายตนภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน คือ
บำเพ็ญฌานโดยเอาความว่าง ที่ละเอียดยิ่งกว่าอากาศ (อวกาศ) ที่ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยเป็นอารมณ์ มีอายุ ๖๐,๐๐๐ มหากัป
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คือ บำเพ็ญฌานโดยเอาความรู้สึกว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยละทิ้งไป เอาความรู้สึกที่นิ่งสนิท มีแต่สัญญาอย่างละเอียดเป็นอารมณ์ มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป
การศึกษาเรื่ององค์ประกอบของจักรวาลนี้ ทำให้เราทราบถึง ความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่า ตัวเราและสิ่งมีชีวิตอื่นมิได้มีอยู่ในโลกใบนี้แต่เพียงเท่านั้น เพราะเราได้ทราบชัดถึงโครงสร้างของจักรวาล ทำให้เรารู้ว่ายังมีสรรพชีวิตอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ตามภพภูมิต่างๆ ในจักรวาล ทั้งหลายอันนับประมาณมิได้ เปรียบเสมือนถูกกักขังอยู่ในคุกหรือกรงขังสรรพสัตว์เอาไว้ในภพ ไม่สามารถหาทางออกให้หลุดพ้นไปได้ ต่างต้องเผชิญกับทุกข์ อยู่ในคุกใหญ่ใบนี้ ทั้งทุกข์หยาบและทุกข์ละเอียด สัตว์นรกต้องรับทุกข์ เพราะถูกทรมานด้วยอาการต่างๆ เปรตต้องทนทุกข์เพราะความหิวโหยอสุรกายต้องทนทุกข์เพราะความหวาดกลัว ไม่มีที่อยู่ที่กิน สัตว์เดรัจฉานต้องทุกข์กับการหาอาหาร มนุษย์นั้นทุกข์เพราะต้องเกิดแก่เจ็บตาย และเศร้าโศกเสียใจ เทวดาก็ทุกข์เพราะมีสมบัติไม่เท่าเทียมเทวดาอื่น พรหมยังมีทุกข์เพราะต้องแข่งกันเรื่องความสว่างของรัศมี ไม่มีสรรพสัตว์ใดเลยที่มีความสุขแต่เพียง อย่างเดียว
ดังนั้น เมื่อเราทราบความจริงเช่นนี้แล้ว ควรที่จะเบื่อหน่ายในการเวียนเกิดเวียนตายในภพสาม ควรแล้วที่จะเลิกท่องเที่ยวอยู่ในคุกแห่งนี้ แล้วแสวงหาหนทางพ้นทุกข์โดยการสั่งสมบุญ สร้างความดี บำเพ็ญบารมีให้มากที่สุด เมื่อบารมีเต็มเปี่ยมย่อมสามารถนำพาตนเองเข้าสู่บรมสุขที่แท้จริง และทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรนำพาชาวโลกไปสู่สันติสุขอันไพบูลย์ได้อย่างแน่นอน
อริยสัจ ๔

2 ความคิดเห็น:

  1. ข้อมูลดีมีสาระน่าอ่านมีความรู้ดี

    ตอบลบ
  2. ข้อมูลดีมีสาระน่าอ่านมีความรู้ดี

    ตอบลบ

ใครจะมาศึกษาปฏิบัติก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องมานับถือก่อน