วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คิริมานนทสูตร

ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตะวันมหาวิหาร ครั้งนั้น ท่านคิริมานนท์อาพาธ(เจ็บป่วย) หนัก กระสับกระส่ายเพราะพิษไข้ ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลให้เสด็จไปเยี่ยม พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าอานนท์จะไปเยี่ยมพระคิริมานนท์จงแสดงสัญญา ๑๐ อย่าง ให้พระคิริมานนท์ฟังด้วย เพราะเมื่อฟังจบแล้วจะหายจากโรคาพาธนั้นโดยเร็วพลัน จากนั้นทรงแสดงสัญญา ๑๐ ให้ท่านพระอานนท์ได้เรียนและจดจำเพื่อนำไปแสดงแก่พระคิริมานนท์ต่อไป
สัญญา ๑๐
๑. อนิจจสัญญา
๒. อนัตตสัญญา
๓. อสุภสัญญา
๔. อาทีนวสัญญา
๕. ปหานสัญญา
๖. วิราคสัญญา
๗. นิโรธสัญญา
๘. สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
๙. สัพพสังขาเรสุอนิฏฐสัญญา
๑๐. อานาปานสติ
สัญญา หมายถึง ความจำได้, ความหมายรู้ได้, หรือความกำหนดหมาย เป็นสัญญาชั้นสูงที่จะนำไปสู่ปัญญา มี ๑๐ ประการ คือ
๑. อนิจจสัญญา กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร หมายถึง การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดมาแล้วดับไป ผันแปรเปลี่ยนสภาพตลอดเวลา หรือเป็นสิ่งชั่วคราวตั้งอยู่ได้ชั่วขณะ
๒. อนัตตสัญญา กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรม หมายถึง การพิจารณาเห็นความเป็นของมิใช่ตัวตนของอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) และอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสภาพว่างเปล่าหาสภาวะที่แท้จริงไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง หรือไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร
๓. อสุภสัญญา กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย หมายถึง การพิจารณาร่างกายนี้ทั้งหมด ตั้งแต่พื้นฝ่าเท้าขึ้นไปจนถึงปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีอยู่ในกายนี้ ๓๑ อย่าง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น พิจารณาจนเกิดเห็นความไม่งามของกายขึ้นในจิต
๔. อาทีนวสัญญา กำหนดหมายโทษแห่งกาย คือ มีอาพาธต่างๆ หมายถึง การพิจารณาเห็นว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก ความเจ็บไข้ต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้ในกายนี้ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนฤดูกาล, วิบากกรรม, หรือการรักษาสุขภาพร่างกายไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
๕. ปหานสัญญา กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตก และบาปธรรม หมายถึง การไม่รับเอาอกุศลวิตก ๓ (กามวิตก, พยาบาทวิตก, วิหิงสาวิตก) ที่เกิดขึ้น แต่กลับพยายามละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้อกุศลทั้งหลายทั้งปวงไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
๖. วิราคสัญญา กำหนดหมายวิราคะ คือ อริยมรรคว่า เป็นธรรมอันละเอียด หมายถึง การพิจารณาเห็นว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด และพระนิพพานเป็นภาวะที่สำรอกกิเลสได้จริง
๗. นิโรธสัญญา กำหนดหมายนิโรธความดับตัณหา คือ อริยผล ว่าเป็นธรรมอันละเอียด หมายถึง การพิจารณาเห็นว่าภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความดับ และพระนิพพาน เป็นภาวะที่ดับตัณหาได้จริง
๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง หมายถึง การละอุปาทานในโลกที่เป็นเหตุตั้งมั่น ยึดมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต งดเว้นไม่ถือมั่น รู้จักยับยั่งใจไม่ให้ไหลไปตามอำนาจตัณหา
๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง หมายถึง การพิจารณาความไม่ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ จนเกิดความอึดอัด ระอาเบื่อหน่าย รังเกียจในสังขารทั้งปวง
๑๐. อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก หมายถึง การตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปในที่อื่น กำหนดจิตเฉพาะที่ลมหายใจเข้าออก
พระอานนท์ เมื่อได้เรียนทรงจำสัญญา ๑๐ ประการนี้ได้แล้วจึงได้ไปเยี่ยมไข้พระคิริมานนท์ แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ นั้นแก่ท่าน เมื่อฟังจบแล้วท่านพระคิริมานนท์ได้หายขาดจากอาพาธนั้น
การที่ทุกขสัญญาไม่ปรากฏอยู่ในสัญญา ๑๐ ประการ ในคิริมานนท์สูตรนั้น มิใช่หมายความว่าไม่มีเรื่องทุกข์ร่วมอยู่ในที่นั้นด้วย เพราะทุกข์ได้ทรงแสดงไว้ในอาทีนวสัญญา การที่ทรงแสดงทุกข์ด้วยอาทีนวสัญญานั้น ก็โดยมีพระพุทธประสงค์ที่จะให้เหมาะแก่บุคคลผู้รับพระธรรมเทศนา คือ พระคิริมานนท์ผู้กำลังต้องอาพาธอยู่ จึงได้ทรงยกโรคาพาธต่างๆ อันเป็นอาการของทุกข์ขึ้นแสดง โดยความเป็นโทษของร่างกายเสียทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นอันยุติว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทุกข์ไว้ในที่นั้นโดยชื่อว่า อาทีนวสัญญา ฯ
(หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นเอก รวมทุกวิชา.กรุงเทพฯ:เลี่ยงเชียง,๒๕๔๗.)อริยสัจ ๔

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงสร้างทางกายภาพของจักรวาล

องค์ประกอบจักรวาลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ละจักรวาลจะมีการวางตำแหน่งโครงสร้างของจักรวาลเหมือนกันทุกประการ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพ ขอบเขตของจักรวาล และตำแหน่งของแต่ละองค์ประกอบชัดเจนยิ่งขึ้น จะขอกล่าวถึงรายละเอียดใน เรื่องนี้เพียงคร่าวๆ พอให้เห็นเป็นแนวทางในการศึกษาเท่านั้น

โครงสร้างสิ่งต่างๆ รอบเขาสิเนรุ
เรื่องโครงสร้างจักรวาล จะขอเริ่มอธิบายจากศูนย์กลางของจักรวาลขยายออกไปในแนวข้างโดย รอบเขาสิเนรุ มีภูเขาสิเนรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ถัดจากเขาสิเนรุออกมา จะมีภูเขา ๗ ชั้นรายล้อมเขาสิเนรุ ภูเขารอบนอกสุดจะต่ำสุด และไล่ระดับความสูงมาจนกระทั่งถึงรอบที่ ๗ ติดกับเขาสิเนรุซึ่ง มีระดับความสูงที่สุด ในระหว่างเขาแต่ละชั้นจะมีน้ำคั่นกลาง ถัดจากภูเขาทั้ง ๗ ชั้นออกไป จะเป็นทะเลใหญ่ เป็นที่ตั้งของโลกมนุษย์ทั้ง ๔ ทวีป ซึ่งอยู่ประจำ ๔ ทิศ รอบเขาสิเนรุ มีดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ลอยอยู่ ระดับกึ่งกลางระหว่างระดับพื้นทะเลกับยอดเขาสิเนรุ โคจรรอบเขาสิเนรุ

๑. ทวีปทั้ง ๔
จะขอขยายความเพิ่มเติมในส่วนของตำแหน่งที่ตั้งของโลกมนุษย์ทั้ง ๔ ทวีป ซึ่งมีดังนี้
๑) ปุพพวิเทหทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาด้านทิศตะวันออก มีพื้นเป็นเงิน แสงสีเงินสะท้อนไป ยังทวีปซีกนั้น
๒) อปรโคยานทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาด้านทิศตะวันตก มีพื้นเป็นแก้วผลึก แสงใสๆ สะท้อน ไปยังทวีปซีกนั้น
๓) อุตตรกุรุทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาด้านทิศเหนือ มีพื้นเป็นทองคำ แสงสีทองสะท้อนไปยังทวีปซีกนั้น
๔) ชมพูทวีป อยู่ตรงกับไหล่เขาด้านทิศใต้ มีพื้นเป็นมรกต แสงสีเขียว สะท้อนไปยังทวีปซีกนั้น

โครงสร้างจักรวาลเบื้องบนเขาสิเนรุ
เราได้ศึกษาโครงสร้างจักรวาลโดยรอบเขาสิเนรุแล้ว ลำดับต่อไปจะนำเสนอโครงสร้างจักรวาล ทางด้านแนวตั้งส่วนบนของเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์ภายในสุคติภูมิ จะเริ่มจากตัวเขาสิเนรุซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล
๑. สวรรค์ชั้นที่ ๑ ชื่อ จาตุมหาราชิกา มีที่อยู่รายรอบเขาสิเนรุ เทวดาชั้นนี้มีหลายประเภท ทั้งที่ อยู่บนพื้นดิน บนต้นไม้ และอยู่ในอากาศ บางพวกอยู่ปะปนกับที่อยู่ของมนุษย์ในชมพูทวีป พวกที่อยู่ตาม ดวงดาวทั้งหลายเป็นอากาสเทวา
๒. สวรรค์ชั้นที่ ๒ ชื่อ ดาวดึงส์ อยู่บนหน้าตัดของเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นกึ่งกลางของกามภพ
๓. สวรรค์ชั้นที่ ๓ ชื่อ ยามา อยู่ถัดจากชั้นดาวดึงส์ สูงขึ้นไปในอากาศ
๔. สวรรค์ชั้นที่ ๔ ชื่อ ดุสิต อยู่ถัดจากสวรรค์ชั้นยามา สูงขึ้นไปในอากาศ มีขนาดใหญ่กว่าสวรรค์ ชั้นยามา
๕. สวรรค์ชั้นที่ ๕ ชื่อ นิมมานรดี อยู่ถัดจากสวรรค์ชั้นดุสิต สูงขึ้นไปในอากาศ มีขนาดใหญ่กว่าสวรรค์ชั้นดุสิต
๖. สวรรค์ชั้นที่ ๖ ชื่อ ปรนิมมิตวสวัตดี อยู่ถัดจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดี สูงขึ้นไปในอากาศ
มีขนาดใหญ่กว่าสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
พรหมและอรูปพรหมถัดจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สูงขึ้นไปอีก มีขนาดใหญ่ขึ้นไปตามลำดับ

โครงสร้างจักรวาลเบื้องล่างเขาสิเนรุ
เราได้ดูโครงสร้างทางแนวนอนโดยรอบเขาสิเนรุ และโครงสร้างทางแนวตั้งด้านบนเขาสิเนรุแล้ว ในลำดับต่อจากนี้ไป จะนำเสนอโครงสร้างเบื้องล่างของเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์ฝ่ายทุคติภูมิโดยส่วนใหญ่
ใต้ภูเขาสิเนรุจะมีภูเขา ๓ ลูก วางแบบ ๓ เส้า เรียกว่าเขาตรีกูฏ รองรับเขาสิเนรุอยู่ ตรงกลาง ภูเขาเป็นอุโมงค์ใหญ่ เป็นที่อยู่ของอสูร (เทวดาพวกหนึ่งที่ดื่มน้ำจัณฑ์จนเมา แล้วถูกขับไล่ลงมาอยู่ตรงนี้) ซอกเขาแต่ละลูกซึ่งมีระดับต่ำกว่าที่อยู่ของอสูร จะเป็นที่อยู่ของเปรต อสุรกาย
ใต้อสูรภพลงไป จะเป็นที่อยู่ของนรกขุมใหญ่ ตั้งแต่ขุมที่ ๑ ไล่ระดับต่ำลงไปจนถึงขุมที่ ๘ ซึ่งมี ขนาดใหญ่ไปตามลำดับ ขุมที่ ๘ จะมีขนาดใหญ่ที่สุด รอบๆ นรกแต่ละขุมจะมีนรกขุมบริวาร (อุสสทนรก) อยู่รอบนรกขุมใหญ่ และที่อยู่ถัดจากขุมบริวารออกไปอีก จะเป็นนรกขุมย่อย (ยมโลก)

ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลายในจักรวาล
เมื่อเรามองออกไปในห้วงจักรวาลอันเวิ้งว้างกว้างไกลสุดสายตา ดูเหมือนว่ามีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ที่เรามองไม่เห็นเพราะภูมิส่วนใหญ่ที่อยู่อันละเอียดไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ยกเว้นมนุสสภูมิที่เราอาศัยอยู่นี้เท่านั้น เมื่อเรามองไกลออกไปในห้วงจักรวาล เราจะเห็นแต่เพียงที่ว่างๆ ที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ สุดสายตา ไม่สามารถมองเห็นภูมิอันเป็นทิพย์ที่เป็นที่อยู่ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เหล่าอื่นอีกมากมายนับไม่ถ้วน

ความหมายของ ภพภูมิ
หากจะกล่าวถึงที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ทั้งหลายในจักรวาล เรามักจะพบศัพท์ที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ คือ คำว่า ภพและภูมิ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น เพราะบางครั้งอาจจะใช้คำสับสนได้ไม่รู้ว่าจะใช้คำใดดี
ดังนั้นใคร่ขออธิบายความหมายของศัพท์นี้ก่อน
ภพ แปลว่า โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์ ภาวะชีวิตของสัตว์ คือ
๑. กามภพ คือ ที่อยู่ของผู้ยังเสวยกามคุณ
๒. รูปภพ คือ ที่อยู่ของรูปพรหม
๓. อรูปภพ คือ ที่อยู่ของอรูปพรหม
ภูมิ แปลว่า พื้นเพ ที่ดิน แผ่นดิน ในที่นี้หมายถึง ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย แบ่งออกเป็น ๓๑ ภูมิ (ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป)
จากคำแปลของคำว่าภพและภูมิ ทำให้เราทราบว่า ทั้ง ๒ คำนี้ มีความหมายคล้ายคลึงกัน
เพียงแต่การแบ่งหมวดหมู่ได้มากน้อยไม่เท่ากัน คำว่า ภูมิ จะสามารถแบ่งประเภทได้มากกว่า คำว่า ภพ โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้คำทั้ง ๒ นี้ควบคู่กันไป

องค์ประกอบของภพ
อย่างที่เราทราบแล้วว่าในแต่ละจักรวาลมีองค์ประกอบอย่างเดียวกัน และภูมิของสัตว์ทั้งหลาย
ก็มีเหมือนกัน คือประกอบด้วยภูมิทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ซึ่งสามารถจัดอยู่ในภาวะของจิตที่เรียกว่า ภพ อันประกอบด้วย กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

ความหมายของกามภพ รูปภพ อรูปภพ
กามภพ คือ ภพอันเป็นที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม ภพนี้เป็นภพของผู้ที่ยังมีความใคร่ ความอยาก ความพึงพอใจอยู่ในจิตใจ ดังนั้นภพนี้จึงได้ชื่อว่า กามภพ ภูมิที่อยู่ในภพนี้มีทั้งหมด ๑๑ ภูมิ ได้แก่ มนุสสภูมิ ๑ อบายภูมิ ๔ และเทวภูมิ ๖
รูปภพ หรือ พรหมโลก คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม พรหมโลกนี้อยู่ในภูมิที่สูงกว่าเทวโลก มีทิพยสมบัติทั้งหลายที่มีความสวยงามประณีตกว่าในเทวโลก
อรูปภพ คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของอรูปพรหม อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปภพ มีทิพยสมบัติทั้งหลาย ที่มีความสวยงามประณีตกว่าในรูปภพ ภพทั้ง ๓ นี้

กามภพ
กามภพ คือ ภพอันเป็นที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม ซึ่งประกอบด้วยภูมิ ทั้งหมด ๑๑ ภูมิ ได้แก่ มนุสสภูมิ ๑ อบายภูมิ ๔ และเทวภูมิ ๖
ในเบื้องต้นจะขอกล่าวถึงมนุสสภูมิเสียก่อน เพราะมนุสสภูมิ เป็นศูนย์กลางของการสร้างบุญและบาป เป็นกลไกสำคัญในการนำสัตว์ทั้งหลายไปเกิดในภูมิฝ่ายสุคติ และทุคติ ซึ่งเป็นที่เสวยผลบุญและบาป

มนุสสภูมิ
มนุสสภูมิ คือ โลกซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์ผู้มีใจสูง คำว่า "มนุษย์"มาจากคำว่า "มน" (อ่านว่า มะนะ) แปลว่า ใจ รวมกับคำว่า อุษย์ หรือ อุตม (อุดม) แปลว่า สูง มนุษย์จึงหมายถึงผู้มีใจสูง ใจรุ่งเรือง และกล้าแข็ง ซึ่งก็คือคนที่อาศัยอยู่ในโลกของเรานี้ และยังรวมถึงคนที่อยู่ในอีกสามโลกในจักรวาลเดียวกับเราด้วย
ที่อยู่ของมนุษย์หรือมนุสสภูมิ อยู่บนพื้นดินในระดับเดียวกับไหล่เขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่ทั้ง ๔ ทิศของ เขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล ผืนแผ่นดินใหญ่ทั้ง ๔ เรียกว่า "ทวีป" มีชื่อว่า ปุพพวิเทหทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และชมพูทวีป ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
เพราะเหตุนี้ ในทวีปทั้ง ๔ จึงมีสีของต้นไม้ ใบไม้ น้ำในทะเล มหาสมุทร ท้องฟ้า ตามสีของรัตนะที่ไหล่เขาพระสุเมรุสะท้อนแสง แต่ละทวีปมีทวีปน้อย ๕๐๐ เป็นบริวาร คนที่อาศัยอยู่ในทวีปน้อย มีความเป็นไปต่างๆ ตามผู้คนที่อยู่ในทวีปใหญ่ รูปใบหน้าของมนุษย์มีลักษณะตามสัณฐานของทวีป
มนุษย์ในทวีปทั้ง ๔ เมื่อกล่าวโดยรวม มีรูปร่าง สัณฐาน หน้าตา อยู่ในลักษณะเดียวกัน ต่างกันตรงขนาด ความได้ส่วนสัด และความประณีตสวยงาม เช่น มนุษย์ในชมพูทวีปมีใบหน้ารูปไข่ มนุษย์ใน อปรโคยานทวีปมีใบหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ มนุษย์ในปุพพวิเทหทวีปมีใบหน้าเหมือนมะนาวตัด หรือพระจันทร์ครึ่งซีก ส่วนมนุษย์ในอุตตรกุรุทวีปมีใบหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม (รูปหน้าของมนุษย์ทวีปใดมีลักษณะเหมือนสัณฐานของทวีปนั้น) มนุษย์ในชมพูทวีป มีความสวยงามและความขี้เหร่แตกต่างกันมากมาย ตามแต่กุศลและอกุศลที่เจ้าตัวกระทำไว้มาให้ผล ส่วนมนุษย์ในทวีปอื่นอีก ๓ ทวีป ความสวยงามของผู้คน ไม่แตกต่างกัน เนื่องจากมีคุณธรรมในจิตใจเสมอเหมือนกันโดยทั่วไป
คุณสมบัติ ๓ ประการ ที่คนในชมพูทวีปประเสริฐกว่าคนในทวีปอื่นและเทวดาชั้นดาวดึงส์ คือ
๑. สูรภาวะ มีจิตใจกล้าแข็งในการกระทำความดี เช่น บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
๒. สติมันตะ มีสติตั้งมั่นในคุณพระรัตนตรัย
๓. พรหมจริยวาส สามารถประพฤติพรหมจรรย์ คือบวชได้
ลักษณะพิเศษ ๔ ประการ ที่คนในชมพูทวีปประเสริฐกว่าคนในทวีปอื่น คือ
๑. มีจิตใจกล้าแข็ง ทั้งในด้านประกอบกรรมดีและกรรมชั่ว ทางฝ่ายดีนั้นสามารถปฏิบัติตน
ให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นต้น
ฝ่ายชั่วก็สามารถกระทำได้ถึงขั้นฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตตุปบาท ทำสังฆเภท เป็นต้น คนในอีก ๓ ทวีป ไม่สามารถกระทำกล้าแข็งได้ถึงเพียงนี้
๒. มีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุ ทั้งที่สมควรและไม่สมควร รู้จักพิจารณาหาเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเป็นอย่างๆ ได้ทั้งฝ่ายที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม
๓. มีความเข้าใจในสิ่งที่มีประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ รู้จักทั้งโลกิยประโยชน์ และโลกุตตร- ประโยชน์ โลกิยประโยชน์ ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มนุษยสมบัติ เทวสมบัติ เป็นต้น ส่วนความเข้าใจ จะลึกซึ้งมากน้อยระดับใด ขึ้นอยู่กับศรัทธา วิริยะ ปัญญา บารมี และการคบหาสมาคม
๔. มีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งโลกิยกุศลและโลกุตตรกุศล ฝ่ายกุศล ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ฝ่ายอกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
สำหรับคนที่อยู่ในอุตตรกุรุทวีป มีคุณสมบัติพิเศษสูงและประเสริฐกว่าคนชมพูทวีปและเทวดา ชั้นดาวดึงส์ ๓ ประการ คือ
๑. ไม่ถือเอาเงินทอง ทรัพย์สมบัติ ว่าเป็นของตน
๒. ไม่หวงแหนหรือถือเอาว่า ผู้นั้นผู้นี้เป็นบุตร ภรรยา สามีของตน
๓. มีอายุยืนถึง ๑,๐๐๐ ปีเสมอ
สำหรับเรื่องของปุพพวิเทหทวีป และอปรโคยานทวีป ไม่มีอะไรพิเศษ ชีวิตความเป็นไปต่างๆ คล้ายคนในชมพูทวีป เว้นแต่ความเจริญของโลกและจิตใจของผู้คน ถึงจะสูงก็ไม่สูงเท่าคนในชมพูทวีป แม้จะต่ำก็ไม่ต่ำเท่าคนในชมพูทวีป เป็นไปในฐานะกลางๆ พระโพธิสัตว์ก็ดี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ดี เมื่อจะบังเกิด จะอุบัติขึ้นเฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้น ไม่เกิดสร้างบารมีที่โลกมนุษย์ทวีปอื่นๆ
เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเป็นผู้มีมนุษยธรรม คือ ธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ ซึ่งก็คือศีลทั้ง ๕ ข้อ หากเป็นผู้ที่บกพร่องในการรักษาศีลแล้ว ก็ยากที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก

อบายภูมิ ๔
อบายภูมิ คือ ภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ เป็นสถานที่ที่สัตว์ไปเกิดแล้วไม่มีโอกาสกระทำ กุศลกรรมหรือความดีเลยแม้แต่น้อย เป็นภูมิที่ต่ำที่สุดในบรรดาภูมิทั้งหมด อบายภูมิมีทั้งหมด ๔ ภูมิ ได้แก่ นิรยภูมิ เปตติวิสยภูมิ อสุรกายภูมิ และติรัจฉานภูมิ

นิรยภูมิ
นิรยภูมิ หรือ โลกนรก คือ โลกที่ไม่มีความสุขสบาย เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ล้วนๆ
ปราศจากความสุขโดยสิ้นเชิง สัตว์ที่ไปเกิดอยู่ในโลกนรกนี้ไม่มีความสุขแม้สักนิดหนึ่งเลย โลกนรกนี้มี อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมาก แบ่งเป็นเขตๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เรียกว่า "ขุม" สัตว์นรกที่บังเกิดขึ้น ในแต่ละขุม จะได้รับทุกขเวทนาแตกต่างกัน แล้วแต่อกุศลกรรมที่ตัวเคยกระทำไว้ ในนิรยภูมินี้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ มหานรก อุสสทนรก และยมโลก

มหานรก (นรกใหญ่)
นิรยภูมิประเภทที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า มหานรก มีทั้งหมด ๘ ขุม ตั้งซ้อนเรียงกันอยู่เป็นชั้นๆ มี
นายนิรยบาลหรือเจ้าหน้าที่ในมหานรก ซึ่งเกิดจากอำนาจบาปกรรมของสัตว์นรก คอยลงทัณฑ์สัตว์นรก ด้วยอาการต่างๆ มหานรกมี ๘ ขุม ดังต่อไปนี้
ก. สัญชีวมหานรก คือ มหานรกที่ไม่มีวันตาย เหล่าสัตว์ต้องเสวยผลกรรมชั่วที่ตัวได้กระทำ ไว้อย่างแสนสาหัส เช่น ถูกนายนิรยบาลจับมัดแล้วบังคับให้นอนลงเหนือแผ่นเหล็กแดงที่ร้อนด้วยไฟนรก ถูกฟันด้วยดาบนรก อันคมกล้าจนร่างกายขาดเป็นท่อนๆ ถูกถาก ถูกเฉือนเนื้อจนหมด ร่างกายเหลือแต่เพียงโครงกระดูก เมื่อสิ้นใจตายก็จะมี "ลมกรรม" พัดมาต้องกายให้กลับฟื้นขึ้นมาอีก เป็นๆ ตายๆ อยู่อย่างนี้จนสิ้นอายุขัย เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะทำกรรมปาณาติบาตเป็นส่วนมาก
ข. กาฬสุตตมหานรก คือ มหานรกที่ลงโทษตามเส้นด้ายดำ เหล่าสัตว์จะถูกนายนิรยบาลจับ มัดให้นอนเหนือแผ่นเหล็กแดง แล้วเอาด้ายดำ ที่ทำด้วยเหล็กนรกใหญ่เท่าลำตาลมาตีบนร่างจนเป็นรอยเส้น จากนั้นก็เอาเลื่อยมาเลื่อย หรือเอาขวานมาผ่า หรือเอามีดนรกมาเฉือนกรีด ตามเส้นด้ายดำที่ตีไว้จนกาย ขาดเป็นท่อนๆ เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะทำอทินนาทาน ชอบลักขโมยเป็นส่วนมาก
ค. สังฆาฏมหานรก คือ มหานรกที่บดขยี้ร่างกายสัตว์ เหล่าสัตว์จะถูกกองไฟนรก ที่มีอยู่เต็มไปหมดแผดเผาให้ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส จากนั้นก็ปรากฏภูเขาเหล็กนรก 2 ลูกกลิ้งมาบีบขยี้ร่าง จนแหลกลาญ เปรียบเหมือนหีบอ้อยที่บดอ้อยให้แหลกละเอียดฉะนั้น เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะประพฤติ ผิดในกามเป็นส่วนมาก
ง. โรรุวมหานรก คือ มหานรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องครวญคราง เหล่าสัตว์ต้องเสวยทุกขเวทนา ในดอกบัวเหล็ก โดยนอนคว่ำหน้าอยู่กลางดอกบัว ศีรษะจมเข้าไปแค่คาง ปลายเท้าจมลงไปแค่ข้อเท้า มือทั้งสองกางจมมิดแค่ข้อมือ แล้วเปลวไฟก็เผาไหม้ดอกบัวเหล็กพร้อมกับสัตว์นรก จะตายก็ไม่ตาย ต้องทรมานจนสิ้นอายุขัย เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะมีวจีกรรมชั่วหยาบเป็นส่วนมาก
จ. มหาโรรุวมหานรก คือ มหานรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องครวญครางมากมาย เหล่าสัตว์ต้อง ถูกลงโทษโดยเข้าไปยืนในดอกบัวเหล็ก ซึ่งมีกลีบที่แหลมคมและร้อนแรงมาก ถูกไฟนรกแผดเผาตั้งแต่ พื้นเท้าจนถึงศีรษะและแลบเข้าไปในทวารทั้ง ๙ เผาไหม้ทั้งข้างในข้างนอก เพราะมีเปลวไฟอันร้อนแรงเช่นนี้ นรกขุมนี้จึงมีชื่ออีกอย่างว่า ชาลโรรุวมหานรก มหานรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องครวญครางเพราะเปลวไฟ มิหนำซ้ำยังถูกนายนิรยบาลกระหน่ำตีศีรษะด้วยกระบองเหล็กมีไฟลุกโชนอีก เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะชอบเสพสุราและยาเสพติดต่างๆ เป็นส่วนมาก
ฉ. ตาปนมหานรก คือ มหานรกที่ทำสัตว์ให้เร่าร้อน เหล่าสัตว์ถูกบังคับให้ขึ้นไปบนปลายหลาวเหล็กใหญ่เท่าต้นตาล แดงฉานด้วยเปลวไฟ แล้วเสียบตนเองอยู่บนปลายหลาวนั้นจนเนื้อหนังสุกพอง อุปมาเหมือนเนื้อเสียบไม้ ปิ้งให้สุกบนถ่านไฟฉะนั้น เมื่อเนื้อสุกแล้วสุนัขนรกตัวใหญ่เท่าช้างสารก็วิ่งมางับ แล้วกระชากสัตว์นรกนั้นลงมาจากหลาวเหล็ก ด้วยความหิวกระหาย ฉีกเนื้อเคี้ยวกินจนเหลือแต่กระดูก เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะทำกรรมเกี่ยวกับการพนันเป็นส่วนมาก
ช. มหาตาปนมหานรก คือ มหานรกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนอย่างมากมายเหลือประมาณ เหล่าสัตว์ต้องได้รับทุกข์อันเกิดจากความร้อนของไฟนรกที่แรงที่สุด นรกขุมนี้ทั้งลึกทั้งกว้าง สัตว์นรกถูก นายนิรยบาลเอาดาบ แหลน หลาว ซึ่งลุกแดงด้วยเปลวไฟไล่ทิ่มแทง บังคับให้ขึ้นไปบนภูเขาไฟ แล้วถูกลมกรดอันร้อนแรงพัดตกลงมาถูกขวากหนามเบื้องล่างเสียบทะลุเลือดแดงฉาน เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะเป็นนักเลงอบายมุข คือทำอบายมุขทุกข้อ
ซ. อเวจีมหานรก คือ มหานรกที่ปราศจากคลื่น คือความเบาบางแห่งความทุกข์ระหว่างแห่ง เปลวไฟไม่มีว่างเว้นเลย ไม่ใช่บางคราก็หนัก บางคราก็เบาอย่างขุมอื่น อเวจีมหานรกนี้เป็นขุมใหญ่ที่สุด ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็กอันลุกโชนด้วยเปลวไฟ ภายในมีเปลวไฟร้อนระอุ ไหม้สัตว์นรกอยู่เนืองนิตย์ สัตว์นรก ในขุมนี้มีมากกว่าขุมอื่นๆ แออัดกันอยู่ภายในกำแพง การเสวยทุกข์นั้นแตกต่างกันไปหลายอิริยาบถ เช่น ถ้าเคยยืนทำบาปไว้ก็ต้องมาทนทุกข์ในท่ายืน ถ้าเคยเดินทำบาปก็ต้องมาทนทุกข์ในท่าเดิน เคยทำบาปกรรม ด้วยอาการอย่างไรก็ต้องมาเสวยทุกข์ด้วยอาการอย่างนั้น
เหตุที่มาเกิดในขุมนี้ เพราะทำกรรมหนัก คือ อนันตริยกรรม ได้แก่ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาท ทำสังฆเภท

๑) อุสสทนรก (นรกขุมบริวาร)
อุสสทนรกเป็นนรกขุมบริวาร เมื่อสัตว์นรกใช้กรรมในมหานรก จนกระทั่งกรรมเบาบางลงแล้ว จะมารับกรรมในอุสสทนรกต่อไป
มหานรกขุมหนึ่งๆ มีอุสสทนรกตั้งอยู่โดยรอบทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๔ ขุม รวมเป็น ๑๖ ขุม เมื่อ รวมอุสสทนรกที่เป็นบริวารของมหานรกทุกขุมแล้ว จะมีจำนวนทั้งหมด ๑๒๘ ขุม อุสสทนรกทั้ง ๔ ขุมใน แต่ละทิศ นั้นมีชื่อเรียกของตัวเอง ซึ่งเป็นชื่อเหมือนกันกับอุสสทนรกในทิศอื่นๆ และเป็นเช่นนี้กับมหานรก ทุกขุม ต่างกันแต่เพียงความหนักเบาของทุกข์โทษเท่านั้น ดังนั้นจึงจะขอกล่าวถึงอุสสทนรกเพียง ๔ ขุม ตามลำดับโดยสังเขปดังต่อไปนี้

คูถนรก
นรกขุมนี้เต็มไปด้วยหมู่หนอนมีปากแหลมดังเข็ม ตัวโตเท่าช้างสาร คอยกัดกินเนื้อของสัตว์นรก จนหมดไม่เหลือแม้แต่กระดูก หนอนที่ตัวเล็กก็จะเข้าไปกัดกินอวัยวะภายในของสัตว์นรก

กุกกุฬนรก
เป็นนรกที่เต็มไปด้วยเถ้ารึงที่ร้อนแรงสำหรับแผดเผาสรีระของสัตว์นรกให้ไหม้เป็นจุลไป หากบาปกรรมยังไม่สิ้นก็ต้องได้รับทุกข์ทรมาน ตาย เกิด ตาย เกิด อยู่อย่างนี้ตลอดไป

อสิปัตตนรก
สัตว์นรกจะถูกใบมะม่วงนรกปลิวลงมากลายเป็นหอก เป็นดาบ ทิ่มแทงให้เป็นแผลเหวอะหวะ บางทีก็ขาดเป็นท่อนๆ เมื่อสัตว์นรกวิ่งหนีออกมา จะมีกำแพงเหล็กลุกเป็นไฟผุดขึ้นมากั้นขวางหน้าไว้ จากนั้นสุนัขนรก และแร้งนรกปากเหล็กตัวใหญ่โต ก็จะมารุมฉีกทึ้งกัดกินเนื้อ

เวตรณีนรก
สัตว์นรกถูกเครือหวายเหล็กบาดร่างกายให้เป็นแผล อยู่ในน้ำเค็ม แล้วก็เกิดเปลวไฟเผาไหม้ ทั้งๆ ที่อยู่ในน้ำเค็มนั้น เมื่อจมลึกลงไปก็ถูกกลีบบัว และใบบัวบาดร่างกายให้ขาดวิ่น ดิ้นทุรนทุรายประดุจ ปลาถูกทุบหัว และถูกนายนิรยบาลจ้วงแทงด้วยหอกแหลนหลาว เหมือนกับเราแทงปลาด้วยฉมวก จากนั้นนายนิรยบาลจะเอาเบ็ดนรกเกี่ยวขึ้นมานอนเหนือแผ่นเหล็กแดง เอาก้อนเหล็กแดงและน้ำทองแดง ใส่ปาก อวัยวะภายในลุกไหม้ไหลทะลักออกมา ไส้ใหญ่ไส้น้อยขาดกระจุยกระจายเรี่ยราดออกมาหมด
ยมโลก (นรกขุมย่อย)
สัตว์นรกเมื่อได้รับกรรมในอุสสทนรกแล้ว หากกรรมยังไม่สิ้น ก็ต้องมาเสวยทุกข์ในยมโลกต่อไป มหานรกขุมหนึ่งๆ มียมโลกตั้งอยู่โดยรอบทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๑๐ ขุม รวมเป็น ๔๐ ขุม เมื่อรวมยมโลกที่ตั้งอยู่ โดยรอบมหานรกทุกขุมแล้ว จะมีจำนวนทั้งหมด ๓๒๐ ขุม ยมโลกทั้ง ๑๐ ขุมในแต่ละทิศมีชื่อเรียกของตัวเองเป็นชื่อเหมือนกันกับยมโลกในทิศอื่นๆ และเป็นเช่นนี้กับมหานรกทุกขุม ต่างกันแต่เพียงความหนักเบา ของทุกข์โทษเท่านั้น
ส่วนเจ้าหน้าที่ในยมโลกที่คอยตัดสินโทษและลงทัณฑ์สัตว์นรก คือ กุมภัณฑ์ เป็นเทวดาที่มีนิสัยดุร้าย อาจเป็นพญายมราช สุวรรณเลขา สุวานเลขา หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ มิใช่เกิดจากแรงกรรมอย่างในมหานรก ยมโลกที่มีชื่อเรียกเหมือนกัน ๑๐ ขุม มีดังต่อไปนี้

๑ โลหกุมภีนรก สัตว์นรกถูกจับลงไปในหม้อเหล็กใบใหญ่เท่าภูเขาที่มีน้ำแสบ น้ำร้อนเดือดพล่านอยู่ตลอดเวลา บางทีนายนิรยบาลก็เอาเชือกเหล็กแดงรัดคอแล้วบิดจนคอขาด เหตุที่ได้รับกรรม เช่นนี้เพราะทำปาณาติบาต

๒ สิมพลีนรก สัตว์นรกชายหญิงผลัดกันปีนขึ้นไปหากันบนต้นงิ้วนรก ที่มีหนามเหล็กแหลม ลุกเป็นไฟ ถูกหนามงิ้วบาดจนตัวขาดทะลุ บางทีก็โดนแร้งกานรกปากเหล็กจิกทึ้งเนื้อกิน เหตุที่ได้รับกรรม เช่นนี้ เพราะประพฤติล่วงกาเมสุมิจฉาจาร

๓ อสินขนรกสัตว์ นรกมีเล็บมือเล็บเท้าที่ยาวและแหลมเป็นอาวุธ คอยถากตะกุยเนื้อหนัง ของตนกินเป็นอาหาร เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้ เพราะกระทำอทินนาทาน ลักเล็กขโมยน้อย ขโมยของสงฆ์ เป็นต้น

๔ ตามโพทกนรก สัตว์นรกนอนหงายเหนือแผ่นเหล็กแดง นายนิรยบาลเอาน้ำทองแดง ดือดพล่านในหม้อมากรอกปาก น้ำนรกลวกอวัยวะภายในจนแตกเปื่อยพังทลาย เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะดื่มสุราเมรัยเป็นนิตย์

๕ อโยคุฬนรก สัตว์นรกในขุมนี้มีแต่ความหิวโหย ครั้นเห็นก้อนเหล็กแดง ก็คิดว่าเป็นอาหาร เที่ยววิ่งเข้าไปยื้อแย่งกัดกิน ก้อนเหล็กแดงนั้นก็ไหม้ไส้พุงให้ขาดกระจัดกระจายเต็มไปหมด เหตุที่ได้รับ กรรมเช่นนี้ เพราะยักยอกทรัพย์ของส่วนรวม หรือทรัพย์ที่เขาบริจาคในการกุศลมาใช้สอยส่วนตน

๖ ปิสสกปัพพตนรก สัตว์นรกถูกภูเขานรกใหญ่ตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๔ กลิ้งมาบดทับ จนบี้แบน
กระดูกแตกป่นละเอียด เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะเป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองที่อันธพาลกดขี่ข่มเหงประชาชน พลเมืองให้เดือดร้อนกันไปทั่ว

๗ ธุสนรก สัตว์นรกมีความกระหายน้ำยิ่งนัก ครั้นเมื่อพบสระน้ำใสเย็น ก็ดื่มกินเข้าไป ด้วยอำนาจกรรมบันดาลให้น้ำนั้นกลับกลายเป็นแกลบ เป็นข้าวลีบลุกเป็นไฟ ไหม้ไส้ใหญ่ไส้น้อยให้ไหล ออกมาทางทวารเบื้องล่าง เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะเป็นพ่อค้าแม่ค้าทุจริต คดโกง เอาของแท้ปนของเทียม แล้วขาย เป็นต้น

๘ สีตโลสิตนรก สัตว์นรกต้องตกลงไปในน้ำที่เย็นยะเยือก และตายเพราะความเย็นนั้น พอ กลับเป็นขึ้นมาใหม่ก็ถูกจับโยนลงไปอีก เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะเป็นคนใจบาป จับสัตว์เป็นๆ โยนลงใน เหวในน้ำ เป็นต้น

๙ สุนขนรก เป็นนรกที่เต็มไปด้วยสุนัขนรก ๕ จำพวก คือ สุนัขดำ สุนัขขาว สุนัขเหลือง สุนัขแดง สุนัขด่าง คอยไล่ขบกัดสัตว์นรกอยู่ไม่ว่างเว้น เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะมีวาจาชั่ว ด่าว่าบิดา มารดา พี่ป้าน้าอา ผู้เฒ่าผู้แก่ ด่าทอผู้ทรงศีลทรงธรรมไม่เลือกหน้า

๑๐ ยันตปาสาณนรก สัตว์นรกถูกจับโยนเข้าไปให้ภูเขานรก ๒ ลูก บดกระทบกัน จนกระดูก ป่นปี้ เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้ เพราะเป็นผู้มีใจบาปหยาบช้า ด่าทอประหัตประหารคู่ครองของตน

โลกันตนรก
เป็นนรกขุมพิเศษ ที่มีแต่ความมืดมนอนธการ สัตว์นรกมีร่างกายใหญ่โต ใช้เล็บมือเล็บเท้าเกาะห้อยโหนอยู่ตามเชิงจักรวาล ครั้นปีนป่ายไปถูกเนื้อตัวเพื่อนสัตว์นรกด้วยกันก็คิดว่าเป็นอาหาร รี่เข้าคว้ากัดกิน ไล่ฟัดกันจนพลัดตกลงไปในทะเลน้ำกรดอันเย็นยะเยือก ฤทธิ์น้ำกรดกัดร่างกายจนเปื่อยพังแหลกละลายลง เมื่อกลับเป็นขึ้นมาใหม่ ก็รีบปีนขึ้นมาเกาะเชิงเขาจักรวาลอีก ต้องทุกข์ทรมานอย่างนี้ สิ้นกาลนาน ต่อเมื่อ พระพุทธองค์มาอุบัติขึ้นในโลก จึงปรากฏแสงสว่างขึ้นแวบหนึ่ง ชั่วสายฟ้าแลบ
เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะประพฤติตนเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างแรงกล้า เที่ยวกระทำอกุศลกรรม ด้วยใจบาปหยาบช้าสามานย์เป็นอาจิณ ประทุษร้ายท่านผู้ทรงศีลเป็นนิตย์ เป็นต้น

๒. เปตติวิสยภูมิ
เปตติวิสยภูมิ คือ ภูมิของเปรต เป็นโลกที่อยู่ของสัตว์ผู้ห่างไกลจากความสุข และมีสถานที่อยู่อาศัย ไม่แน่นอน เช่น ตามป่า ภูเขา เหว ทะเล เกาะ ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะความหิว ความอดอยากอาหาร เป็นยิ่งนัก และไม่มีเสื้อผ้าใส่ เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะทำอกุศลกรรมไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่อละโลกแล้ว จึงมาเป็นเปรต บางพวกต้องไปใช้กรรมในนรกก่อน เมื่อกรรมเบาบางลงแล้วจึงมาเป็นเปรต

เปรตมี ๑๒ จำพวก ได้แก่
๑. วันตาสเปรต เปรตกินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร
๒. กุณปาสเปรต เปรตกินซากศพคนหรือสัตว์ เป็นอาหาร
๓. คูถขาทกเปรต เปรตกินอุจจาระต่างๆ เป็นอาหาร
๔. อัคคิชาลมุขเปรต เปรตมีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ
๕. สุจิมุขเปรต เปรตมีปากเล็กเท่ารูเข็ม
๖. ตัณหัฏฏิตเปรต เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าว หิวน้ำอยู่เสมอ
๗. สุนิชฌามกเปรต เปรตมีลำตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา
๘. สัตถังคเปรต เปรตมีเล็บมือเล็บเท้ายาว คมเหมือนมีด
๙. ปัพพตังคเปรต เปรตมีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา
๑๐. อชครังคเปรต เปรตมีร่างกายเหมือนงูเหลือม
๑๑. เวมานิกเปรต เปรตที่เกิดในวิมาน กลางวันเสวยทุกข์ กลางคืนเสวยสุขอยู่ในวิมาน
๑๒. มหิทธิกเปรต เปรตมีฤทธิ์มาก ปกครองดูแลเปรตอื่นๆ อยู่ในป่าเชิงเขาหิมาลัย
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งชนิดของเปรตอย่างอื่นอีก แต่มีเปรตอยู่ชนิดหนึ่งที่มีโอกาสรับส่วนบุญที่หมู่ญาติอุทิศให้ได้ คือ ปรทัตตูปชีวีเปรต เปรตชนิดอื่นๆ นอกนี้ไม่สามารถรับได้ เพราะปรทัตตูปชีวีเปรต มักเกิดอยู่ในบริเวณบ้าน จึงทราบการทำกุศลของหมู่ญาติและอนุโมทนาบุญได้

๓. อสุรกายภูมิ
อสุรกายภูมิ คือ ภูมิที่อยู่ของสัตว์ซึ่งปราศจากความร่าเริง สนุกสนาน ต้องเสวยทุกขเวทนาเพราะ ความหิวกระหายอยู่ตลอดเวลา อสุรกายบางตัวมีร่างกายผ่ายผอม สูงชะลูด ไม่มีเนื้อเลือดในร่างกาย มีแต่ หนังหุ้มกระดูก ตัวเหม็นสาบ มีดวงตาที่เล็กมากและตั้งอยู่บนศีรษะ ตรงกระหม่อม ปากเล็กเท่ารูเข็ม และตั้งอยู่ใกล้ดวงตา เหตุนี้จึงลำบากในการหาอาหาร เวลาจะกินก็ลำบาก ต้องเอาศีรษะปักลงมา แล้วเอาเท้าชี้ฟ้า เหตุที่ได้รับกรรมเช่นนี้เพราะทำกรรมโดยมีโลภเจตนาแรงกล้า เที่ยวปล้นลักขโมย ฉ้อโกงทรัพย์สมบัติผู้อื่น ทำลายสมบัติของผู้อื่นและของสาธารณะ ลักขโมยของสงฆ์ เป็นต้น
อสุรกายมี ๓ ประเภท ได้แก่
๑. เทวอสูร มีความเป็นอยู่คล้ายเทวดา อาศัยอยู่ใต้ภูเขาสุเนรุ บริเวณสามเส้าที่รองรับ
เขาพระสุเมรุ เรียกว่าเขาตรีกูฏ เป็นอุโมงค์ใหญ่ มีที่อยู่สุขสบาย
๒. เปตติอสูร มีความเป็นอยู่คล้ายเปรต ต้องเสวยทุกขเวทนาเป็นส่วนมาก
๓. นิรยอสูร อยู่ในโลกันตนรก ต้องทนทุกข์ทรมานมากที่สุด
ตามที่กล่าวมาจะเห็นว่าอสุรกายมีภาวะที่คล้ายเปรตอยู่มาก แต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน คือ การประสบทุกขเวทนาของเปรตนั้น เป็นความอดอยากอาหาร ต้องทนทุกข์เพราะความหิวโหย ส่วนของ อสุรกายนั้นต้องเสวยทุกข์เพราะความกระหายน้ำ บางตัวไม่เคยถูกแม้น้ำสักหยดนานถึง ๒-๓ พุทธันดร
อนึ่ง อสุรกายนี้มีร่างกายที่แปลกประหลาดกว่าเปรตอยู่มาก เห็นแล้วน่าเกลียดน่ากลัวยิ่งนัก
แม้ชีวิตความเป็นอยู่ก็ลำบากกว่าเปรตมากมาย เขาจึงมีความละอาย ไม่กล้าปรากฏกายให้ใครเห็น
ด้วยเหตุนี้จึงถูกเรียกว่า อสุรกาย (อสุร แปลว่า ไม่กล้า)

๔. ติรัจฉานภูมิ
ติรัจฉานภูมิ คือ โลกของสัตว์ผู้ไปโดยขวาง คือเวลาจะไปไหน มาไหน ต้องไปโดยอาการขวาง ลำตัว ต้องคว่ำอกไป เช่น สุนัข แมว หนู ไก่ เป็ด งู ปลา เป็นต้น นอกจากร่างกายต้องไปอย่างขวางๆ แล้ว จิตใจยังขวางอีกด้วย คือขวางจากมรรคผลนิพพาน แม้จะทำความดีเท่าไรก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินั้นได้ อย่างมากที่สุดก็เพียงไปสวรรค์เท่านั้น
ติรัจฉานภูมิ หรือโลกของสัตว์เดรัจฉานนี้ ไม่ต้องเสวยทุกขเวทนาแรงกล้าอย่างสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ยังพอจะมีความน่าชื่นชมยินดีอยู่บ้าง เพราะมีอกุศลเบาบาง แม้จะต้องประสบความลำบากอย่างไร ก็ยังมีความน่ายินดีอยู่ ๓ ประการ คือ การกิน การนอน และการสืบพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ ติรัจฉานภูมิจึง มีความหมายได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นโลกของสัตว์ที่มีความยินดีในเหตุ ๓ ประการ
๑. อปทติรัจฉาน คือ สัตว์เดรัจฉานที่ไม่มีเท้า ได้แก่ งู ปลา ไส้เดือน เป็นต้น
๒. ทวิปทติรัจฉาน คือ สัตว์เดรัจฉานที่มี ๒ เท้า ได้แก่ ไก่ เป็ด แร้ง กา เป็นต้น
๓. จตุปทติรัจฉาน คือ สัตว์เดรัจฉานที่มี ๔ เท้า ได้แก่ สุนัข แมว ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น
๔. พหุปทติรัจฉาน คือ สัตว์เดรัจฉานที่มีมากกว่า ๔ เท้าขึ้นไป ได้แก่ มด ปลวก ตะขาบ เป็นต้น
สัตว์เดรัจฉานที่มีชีวิตอยู่ในภูมิเดียวกับมนุษย์ เราสามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ไม่เหมือนกับสัตว์ในอบายภูมิอื่นๆ เช่น เปรต อสุรกาย ที่เป็นอทิสสมานกาย คือมีกายไม่ปรากฏ สัตว์เดรัจฉานไม่มีที่อยู่ของตน โดยเฉพาะ เที่ยวไปๆ มาๆ อยู่บนพื้นปฐพีนี้ มีความเป็นอยู่ลำบากกว่ามนุษย์มากมาย มีภัยรอบด้าน ทั้งภัยจากมนุษย์ ภัยจากสัตว์ใหญ่อื่นๆ ภัยจากความอดอยาก ภัยจากที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ส่วนสัตว์เดรัจฉานอีกประเภทหนึ่ง เป็นสัตว์เดรัจฉานชั้นดี อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นพวก
กายละเอียด ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตามนุษย์
เหตุที่ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ส่วนใหญ่มาจากกิเลสตระกูลโมหะ คือความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่น หลงยึดติดกับบุคคล หรือทรัพย์สมบัติ เป็นต้น บ้างก็เพราะเคยทำอกุศลกรรมไว้ในชาติก่อน เมื่อพ้นกรรมจากนรกแล้ว เศษกรรมก็นำให้มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือบางพวกเมื่อใช้กรรมในนรกแล้ว ต้องไปเกิดเป็นเปรตและอสุรกายก่อน เมื่อเศษกรรมเบาบางลงจึงมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน และมักจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานซ้ำๆ อยู่หลายชาติ เป็นชนิดเดิมบ้าง บางทีก็เปลี่ยนชนิด มีโอกาสทำกุศลกรรมน้อยมาก

๕. เทวภูมิ ๖
เทวภูมิ หรือ สวรรค์ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเทวดา เป็นโลกที่อยู่อาศัยแห่งสัตว์อันเป็นทิพย์ มี รัศมีสว่างไสวรอบกายตลอดเวลา เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดาเพราะสร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันที เรียกว่าถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ ไม่ต้องนอนในครรภ์มารดาหรืออยู่ในฟองไข่ก่อน ส่วนจะอุบัติขึ้น ณ สวรรค์ชั้นไหน เป็นเทวดาประเภทใด และอยู่ในฐานะอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับบุญที่ตัวเองสั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์
สวรรค์มี ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ ตาวติงสเทวภูมิ ยามาเทวภูมิ ตุสิตาเทวภูมิ
นิมมานรดีเทวภูมิ และปรนิมมิตวสวัตดีเทวภูมิ

สวรรค์ชั้นที่ ๑ จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาซึ่งมีท้าวจาตุมหาราชเป็นผู้ปกครอง ท่านปกครองตั้งแต่บนสวรรค์ลงไป จนถึงพื้นมนุษย์ สวรรค์ชั้นนี้เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ ตั้งอยู่ที่เขาพระสุเมรุ เป็นเหมือนเมืองประเทศราชของ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ใกล้กับแผ่นดินมนุษย์มากกว่าสวรรค์ชั้นอื่นๆ สวรรค์ชั้นนี้มีเมืองใหญ่เป็นเทพนครอยู่ถึง ๔ แห่ง แต่ละแห่งมีสถานที่อันน่ารื่นรมย์มากมาย เช่น สระโบกขรณีมีน้ำใสยิ่งกว่าแก้ว เต็มไปด้วยดอกบัว นานาชนิดส่งกลิ่นหอมตลบไปทั่ว มีต้นไม้สวรรค์อันวิจิตร มีดอกไม้อันเป็นทิพย์สีสันสดสวยตระการตา ผลไม้ทิพย์มีรสโอชาอยู่ตลอดกาล ไม่มีวันร่วงโรยและหมดไป

เทพนครทั้ง ๔ แห่งมีผู้ปกครอง ดังต่อไปนี้

๑. ท้าวธตรฐ ปกครองสวรรค์ด้านทิศตะวันออก มีหน้าที่ปกครองเทวดา ๓ พวก ได้แก่ คนธรรพ์ วิทยาธร และกุมภัณฑ์
คนธรรพ์เป็นเทวดาที่เกิดอยู่ตามไม้หอม ๑๐ จำพวก ได้แก่ รากไม้ แก่นไม้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ น้ำหอม ตะคละต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เหง้าใต้ดิน คนธรรพ์มี ๓ ประเภท ได้แก่ คนธรรพ์ชั้นสูง ชั้นกลาง และชั้นล่าง คนธรรพ์ชั้นสูงมีวิมานอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เช่น ปัญจสิกขเทวบุตร มีเทพธิดาประจำ อยู่ในวิมาน คนธรรพ์ชั้นกลาง เกิดอยู่ในป่าหิมพานต์ มีวิมานอยู่ในต้นไม้ เป็นบริวารของคนธรรพ์ชั้นสูง ส่วนคนธรรพ์ชั้นล่างอยู่บนพื้นมนุษย์ เป็นชาวพื้นบ้าน มีทั้งที่มีครอบครัว และไม่มีครอบครัว สิงอยู่ในต้นไม้จำพวกไม้หอม เช่น นางตะเคียน นางตานี คนธรรพ์มีความถนัดในการดนตรี การละคร ระบำรำฟ้อน ศิลปะ วรรณกรรม กวีนิพนธ์ เมื่อมีเทวสมาคมครั้งใดคนธรรพ์มักทำหน้าที่ขับกล่อมให้ความสำราญแก่ หมู่ทวยเทพทั้งหลาย คนธรรพ์นี้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำบุญเจือด้วยกามคุณ จึงได้มาเกิดเป็นคนธรรพ์
วิทยาธรเป็นพวกที่ทรงความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ เป็นพวกที่ศึกษา ศาสตร์ต่างๆ เช่น แพทยศาสตร์ โหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น พวกนี้เหาะได้ มีเวทมนตร์ คาถา อาคม ต่างๆ วิทยาธรมีรูปร่างหลากหลาย อยู่แบบเดี่ยวก็มี อยู่เป็นหมู่เป็นกลุ่มก็มี มีคู่ครองก็มี ไม่มีคู่ครองก็มี เป็นทั้งฤาษี นักบวช นักพรต คล้ายๆ มนุษย์ธรรมดาก็มี ส่วนกุมภัณฑ์มีรูปร่างแปลก หน้าตาพองๆ ไม่น่ากลัว เหมือนยักษ์ และก็ไม่ใช่ยักษ์ ไม่มีเขี้ยว ผมหยิกๆ ผิวดำ ท้องโต พุงโร และมีอัณฑะเหมือนหม้อ กุมภัณฑ์ มีตั้งแต่ชั้นสูงจนถึงชั้นล่าง มีหน้าที่ลงไปทรมานสัตว์นรกในยมโลก

๒. ท้าววิรุฬหก ปกครองสวรรค์ด้านทิศใต้ มีหน้าที่ปกครองพวกครุฑ เหตุที่มาเกิดเป็นครุฑ เพราะทำบุญเจือด้วยมานะทิฏฐิ มีความถือตัวอยู่มาก

๓. ท้าววิรูปักษ์ ปกครองสวรรค์ด้านทิศตะวันตก มีหน้าที่ปกครองพวกนาค เหตุที่มาเกิดเป็นนาคเพราะทำบุญเจือด้วยมานะทิฏฐิ มีความถือตัวอยู่มาก

๔. ท้าวเวสสวัณ หรือ ท้าวกุเวรมหาราช ปกครองสวรรค์ด้านทิศเหนือ มีหน้าที่ปกครองพวกยักษ์ ซึ่งมีทั้งที่รูปร่างสวยงามมีรัศมี และพวกที่รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว เช่น รากษส เป็นยักษ์น้ำที่มีนิสัยดุร้าย เป็นต้น เหตุที่มาเกิดเป็นยักษ์เพราะทำบุญเจือด้วยความโกรธ มักหงุดหงิดรำคาญใจเป็นอาจิณ
นอกจากนี้ยังมีเทวดาพวกอื่นอีก ซึ่งเป็นเทวดาชั้นล่าง ได้แก่ ภุมมเทวา รุกขเทวา และอากาสเทวา
ภุมมเทวาเป็นเทวดาที่อาศัยอยู่บนพื้นมนุษย์ อยู่ตามจอมปลวก เนินดิน ใต้ดิน ภูเขา แม่น้ำ บ้าน เจดีย์ ศาลา ซุ้มประตู เป็นต้น บางองค์มีวิมานเป็นของตัวเอง บางองค์ก็ไม่มี
รุกขเทวาอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้หรือยอดไม้ต่างๆ ซึ่งสูงขึ้นไปกว่าพวกภุมมเทวา มีทั้งที่มีวิมานและไม่มีวิมาน
อากาสเทวามีวิมานอยู่ในอากาศ สูงขึ้นไปจากพื้นดิน ๑ โยชน์ เทวดาเหล่านี้อยู่ในปกครองของ ท้าวจาตุมหาราชิกา
อนึ่ง คนธรรพ์กับรุกขเทวามีความแตกต่างกัน คือ คนธรรพ์จะอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ตลอดไป
ไม่ยอมทิ้งที่อยู่อาศัย แม้ต้นไม้นั้นจะผุพัง โค่นล้ม หรือถูกตัดเอาไปสร้างบ้านเรือนก็ตาม แต่พวกรุกขเทวา หากมีผู้ทำลายต้นไม้ที่ตนอยู่ ก็จะย้ายวิมานไปอยู่ต้นไม้ต้นอื่น
ในสวรรค์ชั้นนี้ยังมีป่าหิมพานต์ เป็นป่าที่มีสีทอง มีพื้นเป็นทอง ใบไม้เป็นสีทอง อยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งแต่เดิมเชื่อมติดกับแผ่นดินของ ๔ ทวีป พอมนุษย์ทำบาปหนักเข้า แผ่นดินจึงก็แยกจากกันดังปรากฏใน ชาดกหลายๆ เรื่อง ทำให้ติดต่อไปมาหาสู่กันไม่ได้ ในป่าหิมพานต์นี้มียอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด มีแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย คือ คงคา ยมุนา สรภู อจิรวดี มหิมา มีสระใหญ่ ๗ สระ คือ อโนดาต กัณณมุณฑะ รถกาละ ฉัททันตะ มัณฑากินี สีหปปาตะ กุณาละ เฉพาะที่สระอโนดาตมีภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบ คือ เขาสุทัสสนะ เขาจิตตกูฏ เขากาฬกูฏ เขาไกรลาส เขาคันธมาทน์ ที่เขาคันธมาทน์นี้ มีเงื้อมเขาหนึ่งชื่อ นันทมูลกะ เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า มีถ้ำอยู่ ๓ แห่ง คือ ถ้ำทอง ถ้ำแก้ว ถ้ำเงิน
ในป่าหิมพานต์มีสัตว์รูปร่างพิสดารมากมาย เช่น กินนร กินนรี พญานาค พญาครุฑ ติณณราชสีห์ กาฬราชสีห์ ปัณฑุราชสีห์ ไกรสรราชสีห์ คชสีห์ ช้างบางประเภท นกการเวก นกอินทรีย์ ปลาใหญ่ และมี ต้นมักกะลีผล หรือนารีผล ซึ่งมีผลเป็นนารี เป็นที่หมายปองของเหล่าเทวดาพวกคนธรรพ์และวิทยาธรในป่าหิมพานต์ทั้งหลาย

สวรรค์ชั้นที่ ๒ ตาวติงสเทวภูมิ
เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ดาวดึงส์ เป็นที่อยู่ของเทวดาซึ่งมีเทพ ๓๓ องค์เป็นผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นเทพนครอันกว้างใหญ่ไพศาล มีปราสาทแก้วอันเป็นทิพย์ล้อมรอบ
ด้วยกำแพงแก้วอันมีประตูถึงพันแห่ง ที่ศูนย์กลางภพมีปราสาทอันงดงามประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ ชื่อว่าไพชยันตปราสาท หรือเวชยันตปราสาท อันเป็นที่ประทับของท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นผู้ปกครองสูงสุดของสวรรค์ชั้นนี้ มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓๓ เขต แต่ละเขตมีสหายสนิทของพระอินทร์ ๓๒ องค์ เป็นผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้มีเทวดาที่เป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระสกิทาคามี พระโสดาบัน เทวดาที่เข้าถึงไตรสรณาคมน์ และเทวดาทั่วไป

สวรรค์ชั้นที่ ๓ ยามาเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวสุยามะเป็นผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้ ตั้งอยู่สูงขึ้นไปเบื้องบนไกลแสนไกลจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พื้นสวรรค์ไม่มีแผ่นดินรองรับเหมือนอย่างสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และจาตุมหาราชิกา และแสงของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ส่องไปไม่ถึง เหล่าเทพมองเห็นได้ด้วยอาศัยรัศมีกายของตัวเอง การจะรู้วันและคืนได้นั้นอาศัยดอกไม้ทิพย์ เวลากลางวันจะบาน เวลากลางคืนจะหุบลง

สวรรค์ชั้นที่ ๔ ตุสิตาเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวสันดุสิตเป็นผู้ปกครอง ชาวสวรรค์เป็นผู้มีความยินดีและความแช่มชื่น อยู่เป็นนิตย์ บนสวรรค์มีปราสาท วิมานอยู่มากมาย ล้วนวิจิตรตระการตาเกินจะพรรณนา เหล่าเทพมีรูปทรง สวยงามสง่า มีจิตยินดีในการฟังธรรมยิ่งนัก สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่ที่เหล่าพระโพธิสัตว์และนักสร้างบารมีทั้งหลาย เลือกที่จะใช้เป็นที่พักระหว่างทางในการสร้างบารมี เช่นองค์ปัจจุบันที่จะตรัสรู้เป็นพระศรีอริยเมตไตรย- พุทธเจ้าก็ประทับ ณ สวรรค์ชั้นนี้
ชาวสวรรค์ชั้นนี้มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นพวกที่มีใจใหญ่ ตั้งใจจะทำบุญเพื่อสงเคราะห์ชาวโลก บางพวกเมื่อโอกาสเหมาะแก่การสร้างบารมีบนโลกมนุษย์มาถึง ก็จะอธิษฐานจิตแล้วจุติลงมาเกิดเพื่อสร้างบารมี วิมานยังคงอยู่บนสวรรค์ ส่วนชาวสวรรค์ชั้นอื่นจุติเมื่อสิ้นอายุขัยหรือหมดบุญ เมื่อลงมาแล้ว วิมานก็หายไป

สวรรค์ชั้นที่ ๕ นิมมานรดีเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวสุนิมมิตเป็นผู้ปกครอง ชาวสวรรค์ชั้นนี้หากมีความปรารถนาจะเสวยสุข ด้วยกามคุณสิ่งใด ก็สามารถเนรมิตเอาได้ดั่งใจทุกประการ

สวรรค์ชั้นที่ ๖ ปรนิมมิตวสวัตตีเทวภูมิ
เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวปรนิมมิตวสวัตดีเป็นผู้ปกครอง เป็นสวรรค์ชั้นที่สูงที่สุดและกว้างใหญ่ ที่สุดในบรรดาสวรรค์ทั้งหมด ได้รับสุขสมบัติยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นใดๆ หากชาวสวรรค์มีความปรารถนาสิ่งใดแล้ว จะมีเทวดาอื่นรู้ความปรารถนาของตนแล้วเนรมิตให้ได้ดั่งใจทุกประการ

เหตุแห่งการเกิดในสวรรค์แต่ละชั้น
บุคคลที่จะถือกำเนิดบนสวรรค์นั้น เมื่อเป็นมนุษย์ต้องหมั่นสร้างความดี สั่งสมบุญ บำเพ็ญบารมี หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ผลแห่งความดีนั้นจะนำให้ไปเกิดบนสวรรค์ จะได้เสวยทิพยสมบัติ ที่ละเอียดประณีตแตกต่างกัน มีรัศมีกายมากน้อยต่างกันเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการทำความดี ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น ๔ ประการ ดังต่อไปนี้
๑. ทำความดีเพราะความกลัว คือทำความดีเผื่อเอาไว้ว่า หากนรกมีจริง ความดีนี้ก็จะช่วยตนให้ ไม่ต้องตกนรกได้ อย่างนี้ทำความดีได้ไม่เต็มที่ อุปมาเหมือนเด็กอนุบาลทำดีเพราะกลัวครู หรือพ่อแม่ตี เมื่อละโลกแล้ว ผลบุญส่งให้ไปเป็นได้เพียงภุมมเทวา รุกขเทวา หรืออากาสเทวา
๒. ทำความดีเพราะหวังสิ่งตอบแทน เมื่อทำความดีครั้งใด ใจจะคอยแต่คิดหวังลาภหรือของ
รางวัลต่างๆ กลับคืนมา อุปมาเหมือนเด็กประถมทำดีเพื่อให้ครูแจกขนมหรือให้พ่อแม่ซื้อของเล่นให้ เมื่อ ละโลกแล้วผลบุญส่งให้ไปเป็นเทวดาไม่สูงไปกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๓. ทำความดีเพราะหวังคำชม ต้องได้รับคำสรรเสริญจึงจะมีกำลังใจทำความดี อุปมาเหมือน เด็กมัธยมทำดีเพราะอยากได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เมื่อละโลกแล้วผลบุญส่งให้ไปเป็นเทวดา ไม่สูงไปกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๔. ทำความดีเพื่อความดี คือทำความดีเพราะคิดว่านั่นเป็นความดี เป็นสิ่งที่ควรทำ ใครจะให้หรือไม่ให้ของใดๆ ก็ยังทำความดี ใครจะชมหรือไม่ชมก็ยังทำความดี เพราะมั่นใจในความดีที่ตนทำ อุปมาเหมือนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ทำดีเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ เมื่อละโลกแล้ว ผลบุญส่งให้ไปเป็นเทวดาตั้งแต่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความประณีตของใจในขณะทำความดี

๖. รูปภพ
รูปภพ หรือ พรหมโลก คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม พรหมโลกนี้อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่า เทวโลก มีทิพยสมบัติทั้งหลาย ที่มีความสวยงามประณีตกว่าในเทวโลก
พรหม คือ ผู้ที่มีความเจริญอยู่ด้วยคุณพิเศษ มีฌาน เป็นต้น รูปร่างของพรหมนั้นไม่ปรากฏว่าเป็น หญิงหรือชาย เพราะพรหมไม่มีกามฉันทะอย่างหยาบ แม้ตั้งแต่ในสมัยที่เป็นมนุษย์ก็ข่มได้อยู่แล้วขณะ กระทำฌานให้เกิด อย่างไรก็ดียังมีรูปร่างคล้ายชายมากกว่า ผู้ที่เจริญสมาธิภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงรูปฌาน เมื่อละโลกแล้วจะมาบังเกิดเป็นรูปพรหมอยู่ในรูปภพ ซึ่งระดับความแก่อ่อนของฌานนั้นก็แตกต่างกัน ไปตามภูมิที่อยู่มีทั้งหมด ๑๖ ชั้น แบ่งย่อยออกเป็นภูมิชั้นต่างๆ ดังนี้

ปฐมฌานภูมิ ๓
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้ปฐมฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน มิได้ตั้งอยู่สูงต่อๆ กันไปตาม ลำดับชั้นอย่างสวรรค์ ประกอบด้วย
พรหมปาริสัชชา เป็นพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างอ่อน เป็นพรหมธรรมดาสามัญ ไม่มีอำนาจพิเศษ อันใด เป็นบริวารของมหาพรหม
พรหมปุโรหิตา เป็นพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างกลาง เป็นพรหมปุโรหิต (ที่ปรึกษา) ของมหาพรหม และอยู่ในตำแหน่งผู้นำในกิจการทั้งหลายของมหาพรหม
มหาพรหมา เป็นพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างแก่ เป็นพรหมที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งกว่าพรหม- ปาริสัชชา และพรหมปุโรหิตา ในมหาพรหมาภูมิ ยังเป็นที่อยู่ของท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งเป็นผู้ทูลอาราธนา ให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ พรหมที่ได้ฌานอย่างแก่ มีบุญมาก มีรัศมีสว่างไสว จะอยู่ที่ศูนย์กลางภพ ส่วนพรหมที่มีกำลังฌานรองลงไป ก็จะอยู่ถัดออกไปโดยรอบ

ทุติยฌานภูมิ ๓
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้ทุติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นปฐมฌานภูมิ ประกอบด้วย
ปริตตาภา เป็นพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างอ่อน มีรัศมีน้อยกว่า พรหมที่อยู่เบื้องบน (ปริตตะ แปลว่า น้อย อาภา แปลว่า รัศมี ความสว่าง)
อัปปมาณาภา เป็นพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างกลาง มีรัศมีหาประมาณมิได้
อาภัสสรา เป็นพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างแก่ มีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากร่างกาย มีความยินดีใน
ฌานของตนอย่างเต็มที่ เป็นไปด้วยอำนาจของปีติอยู่เสมอ จิตใจจึงมีความผ่องใสมากอยู่เสมอ ส่งผลให้กาย ผ่องใสจนปรากฏออกมาเป็นรัศมีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย

ตติยฌานภูมิ ๓
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้ตติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นทุติยฌานภูมิ ประกอบด้วย
ปริตตสุภา เป็นพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างอ่อน มีรัศมีสวยงามเช่นเดียวกับรัศมีของดวงจันทร์ เป็น ความสว่างที่ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน รัศมีรวมกันอยู่เป็นวงกลม แต่ยังสวยงามน้อยกว่าพรหมที่ อยู่เบื้องบน
อัปปมาณสุภา เป็นพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างกลาง มีรัศมีสวยงามหาประมาณมิได้
สุภกิณหา เป็นพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างแก่ มีรัศมีสวยงามตลอดทั่วร่างกาย

จตุตถฌานภูมิ ๒
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้จตุตถฌาน ประกอบด้วย
เวหัปผลา เป็นพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือเป็นผลของกุศลที่มั่นคงไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษ
ตามอำนาจของฌาน ผลของกุศลในชั้นปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ และตติยฌานภูมิ ไม่สามารถบังเกิด ในชั้นเวหัปผลาภูมิได้ เพราะเมื่อยามโลกถูกทำลาย ภูมิทั้ง 3 ระดับย่อมถูกทำลายไปด้วย
ในบรรดาพรหมทั้ง ๙ ภูมิที่กล่าวมา สุภกิณหามีอายุยืนมากกว่าพรหมอื่นๆ ที่เกิดอยู่ในภูมิต่ำกว่า คือมีอายุขัยถึง ๖๔ มหากัป โดยพรหมองค์ที่มีอายุเต็ม ๖๔ มหากัป ต้องเป็นองค์ที่อุบัติขึ้นพร้อมการ สร้างโลกใหม่ ส่วนองค์ที่เกิดตามมาภายหลังย่อมมีอายุลดลงตามลำดับ เมื่อครบกำหนด ๖๔ มหากัป ตติยฌานภูมินี้จะถูกทำลายด้วยลมทุกครั้งไป สำหรับเวหัปผลาภูมิพ้นจากการถูกทำลายทั้งด้วยไฟ น้ำ และลม พรหมทุกองค์ที่บังเกิด ณ ที่นี้จึงมีอายุขัยได้เต็มที่ คือ ๕๐๐ มหากัปเสมอไป
อสัญญีสัตตา เป็นพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีแต่รูปขันธ์ คือดับ ความรู้สึกข้างนอกหมด ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น แต่กิเลสยังไม่ดับ มีรูปร่างผิวพรรณงดงามคล้ายพระพุทธรูป- ทองคำ มีอิริยาบถ ๓ อย่าง คือ นั่ง นอน หรือยืน แล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนิ่งๆ แข็งทื่ออยู่อย่างนั้นจนครบอายุขัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า พรหมลูกฟัก
จตุตถฌานภูมิทั้ง ๒ นี้ตั้งอยู่กลางอากาศ สูงกว่าตติยฌานภูมิ พรหมใน ๒ ชั้นนี้สามารถมองเห็น ซึ่งกันและกัน และมองเห็นพรหมชั้นที่อยู่ต่ำกว่าได้ ส่วนพรหมชั้นต่ำกว่าไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้
รูปพรหมทั้ง ๑๑ ชั้นเหล่านี้ แม้ว่าจะมีอายุยืนยาวมากก็ตาม ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็น พรหมด้วยกันทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิก็เป็นได้ ทิพยสมบัติ อิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืนต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย

สุทธาวาสภูมิ ๕
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าชั้นอนาคามี สุทธาวาสภูมิ แบ่งออกเป็น ๕ ชั้น
ตามความแก่อ่อนของบารมี โดยดูจากอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ดังนี้
อวิหา มีอินทรีย์อ่อนที่สุด ศรัทธามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่ไม่ ละทิ้งสถานที่ของตน คือต้องอยู่จนครบอายุขัยจึงจุติ ไม่มีการเสื่อมจากสมบัติของตน มีทิพยสมบัติบริบูรณ์เต็มที่ อยู่เสมอจนตลอดอายุขัย สำหรับพรหมชั้นสูงที่เหลืออีก ๔ ชั้น อาจไม่ได้อยู่จนครบอายุขัย มีการจุติได้ก่อน
อตัปปา วิริยะมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะย่อมเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมที่เป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนไม่อาจเกิดขึ้น จิตใจจึงมีแต่ความสงบเยือกเย็น
สุทัสสา สติมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่เห็นสิ่งต่างๆ โดยปรากฏชัด เพราะบริบูรณ์ด้วยจักษุทั้งหลาย ได้แก่ ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ธัมมจักษุ ปัญญาจักษุที่บริสุทธิ์ พรหมในชั้นนี้มีร่างกายสวยงามมาก ผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมเกิดความสุขใจ สุทัสสา จึงหมายความว่า ผู้ที่ผู้อื่นเห็น ด้วยความเป็นสุข
สุทัสสี สมาธิมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่แลเห็นสิ่งต่างๆ โดย สะดวก มีการเห็นบริบูรณ์ด้วยดียิ่งกว่า สุทัสสาพรหม ว่าโดยจักษุ ๔ ประการแล้ว ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้งสามอย่างนี้มีกำลังมากยิ่งกว่าสุทัสสาพรหม มีแต่ธัมมจักษุเท่านั้นที่มีกำลังเสมอกัน
อกนิฏฐ มีอินทรีย์แก่ที่สุด ปัญญามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่มี ทิพยสมบัติและความสุขที่ยอดเยี่ยม มีคุณสมบัติยิ่งกว่ารูปพรหมทุกชั้น รูปพรหมชั้นที่ ๑ ถึง ชั้นที่ ๔ ใน สุทธาวาสภูมินี้ ขณะยังไม่เป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติในชั้นของตนแล้ว จะเลื่อนไปบังเกิดในชั้นสูงขึ้นไป ไม่เกิดซ้ำภูมิหรือไม่เกิดในภูมิต่ำกว่า แต่สำหรับอกนิฏฐพรหมย่อมไม่ไปบังเกิดในภูมิอื่นอีกเลย จะต้อง ปรินิพพานในภูมินี้
ในอกนิฏฐภูมิ มีปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่ง คือ ทุสสเจดีย์ เป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของ เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสวมใส่ในขณะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โดยฆฏิการพรหมลงมาจากชั้นอกนิฏฐภูมิ นำเอาเครื่องบริขารทั้ง ๘ ถวายแด่พระสิทธัตถะ และรับเอาเครื่องฉลองพระองค์ไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ มีความสูง ๑๒ โยชน์
สุทธาวาสภูมิ จะมีขึ้นในระยะที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเท่านั้น เพราะเป็นที่อยู่ของอนาคามีบุคคล ถ้าพระพุทธศาสนายังไม่บังเกิด พระอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นับเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นเฉพาะกาล โดยธรรมชาติ อายุของสุทธาวาสภูมิจะไม่เกินอายุรวมของทั้ง ๕ ชั้นในภูมินี้รวมกัน (ประมาณ ๓๑,๐๐๐ มหากัป) เพราะไม่ว่าพระอริยบุคคลจะเกิดอยู่ในภูมิใด ในมนุษย์ เทวดา รูปพรหม ก็จะพากันปรินิพพานจนหมด ดังนั้นสุทธาวาสภูมิจะหายไป และจะบังเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นใน โลกมนุษย์ หมุนเวียนอยู่ดังนี้

๗. อรูปภพ
อรูปภพ คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของอรูปพรหม อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปภพ มีทิพยสมบัติทั้งหลาย ที่มีความสวยงามประณีตกว่าในรูปภพ
อรูปพรหม คือ พรหมที่ไม่ใช่รูปพรหม มีกายอันสวยงาม ประณีต ละเอียด สว่างไสวกว่ารูปพรหม อุบัติขึ้นเพราะเหตุแห่งการบำเพ็ญอรูปฌานกุศล ฌานที่บังเกิดขึ้นเรียกว่าอรูปฌาน เมื่อตายลงในขณะที่ ฌานยังไม่เสื่อมย่อมบังเกิดในอรูปภพ พรหมชนิดนี้จัดว่าเป็นอภัพพสัตว์ ไม่สามารถมาตรัสรู้หรือพ้นจากทุกข์ได้ในชาตินั้น (อสัญญีสัตตาพรหม จัดเป็นอภัพพสัตว์เช่นเดียวกัน) อรูปภพแบ่งออกเป็น ๔ ชั้น ตามความสูงต่ำของอำนาจฌาน ดังนี้
๑. อากาสานัญจายตนภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน คือ
บำเพ็ญฌานโดยเอาอากาศ ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ มีอายุ ๒๐,๐๐๐ มหากัป
๒. วิญญาณัญจายตนภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน คือ
บำเพ็ญฌานโดยเอาความรู้สึกว่า มีอากาศมาเป็นอารมณ์ มีอายุ ๔๐,๐๐๐ มหากัป
๓. อากิญจัญญายตนภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน คือ
บำเพ็ญฌานโดยเอาความว่าง ที่ละเอียดยิ่งกว่าอากาศ (อวกาศ) ที่ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยเป็นอารมณ์ มีอายุ ๖๐,๐๐๐ มหากัป
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คือ บำเพ็ญฌานโดยเอาความรู้สึกว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยละทิ้งไป เอาความรู้สึกที่นิ่งสนิท มีแต่สัญญาอย่างละเอียดเป็นอารมณ์ มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป
การศึกษาเรื่ององค์ประกอบของจักรวาลนี้ ทำให้เราทราบถึง ความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่า ตัวเราและสิ่งมีชีวิตอื่นมิได้มีอยู่ในโลกใบนี้แต่เพียงเท่านั้น เพราะเราได้ทราบชัดถึงโครงสร้างของจักรวาล ทำให้เรารู้ว่ายังมีสรรพชีวิตอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ตามภพภูมิต่างๆ ในจักรวาล ทั้งหลายอันนับประมาณมิได้ เปรียบเสมือนถูกกักขังอยู่ในคุกหรือกรงขังสรรพสัตว์เอาไว้ในภพ ไม่สามารถหาทางออกให้หลุดพ้นไปได้ ต่างต้องเผชิญกับทุกข์ อยู่ในคุกใหญ่ใบนี้ ทั้งทุกข์หยาบและทุกข์ละเอียด สัตว์นรกต้องรับทุกข์ เพราะถูกทรมานด้วยอาการต่างๆ เปรตต้องทนทุกข์เพราะความหิวโหยอสุรกายต้องทนทุกข์เพราะความหวาดกลัว ไม่มีที่อยู่ที่กิน สัตว์เดรัจฉานต้องทุกข์กับการหาอาหาร มนุษย์นั้นทุกข์เพราะต้องเกิดแก่เจ็บตาย และเศร้าโศกเสียใจ เทวดาก็ทุกข์เพราะมีสมบัติไม่เท่าเทียมเทวดาอื่น พรหมยังมีทุกข์เพราะต้องแข่งกันเรื่องความสว่างของรัศมี ไม่มีสรรพสัตว์ใดเลยที่มีความสุขแต่เพียง อย่างเดียว
ดังนั้น เมื่อเราทราบความจริงเช่นนี้แล้ว ควรที่จะเบื่อหน่ายในการเวียนเกิดเวียนตายในภพสาม ควรแล้วที่จะเลิกท่องเที่ยวอยู่ในคุกแห่งนี้ แล้วแสวงหาหนทางพ้นทุกข์โดยการสั่งสมบุญ สร้างความดี บำเพ็ญบารมีให้มากที่สุด เมื่อบารมีเต็มเปี่ยมย่อมสามารถนำพาตนเองเข้าสู่บรมสุขที่แท้จริง และทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรนำพาชาวโลกไปสู่สันติสุขอันไพบูลย์ได้อย่างแน่นอน
อริยสัจ ๔

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

มงคล 38 ประการ

มงคล ๓๘ ประการ

มงคล คือเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือมี "มงคลชีวิต" ซึ่งมี ๓๘ ประการได้แก่

๑. การไม่คบคนพาล

๒. การคบบัญฑิต

๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

๔. การอยู่ในถิ่นอันสมควร

๕. เคยทำบุญมาก่อน

๖. การตั้งตนชอบ

๗. ความเป็นพหูสูต

๘. การรอบรู้ในศิลปะ

๙. มีวินัยที่ดี

๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต

๑๑.การบำรุงบิดามารดา

๑๒.การสงเคราะห์บุตร

๑๓.การสงเคราะห์ภรรยา

๑๔.ทำงานไม่ให้คั่งค้าง

๑๕.การให้ทาน

๑๖.การประพฤติธรรม

๑๗.การสงเคราะห์ญาติ

๑๘.ทำงานที่ไม่มีโทษ

๑๙.ละเว้นจากบาป

๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

๒๒.มีความเคารพ

๒๓.มีความถ่อมตน

๒๔.มีความสันโดษ

๒๕.มีความกตัญญู

๒๖.การฟังธรรมตามกาล

๒๗.มีความอดทน

๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย

๒๙.การได้เห็นสมณะ

๓๐.การสนทนาธรรมตามกาล

๓๑.การบำเพ็ญตบะ

๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์

๓๓.การเห็นอริยสัจ

๓๔.การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

๓๖.มีจิตไม่เศร้าโศก

๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส

๓๘.มีจิตเกษม
.........................
๑. การไม่คบคนพาล

ท่านว่าลักษณะของคนพาลมี ๓ ประการคือ

๑.คิดชั่ว คือการมีจิตคิดอยากได้ในทางทุจริต มีความพยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ คือเห็นผิดเป็นชอบ

๒.พูดชั่ว คือคำพูดที่ประกอบไปด้วยวจีทุจริตเช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ

๓.ทำชั่ว คือทำอะไรที่ประกอบด้วยกายทุจริตเช่น การฆ่าสัตว์ ลักขโมย ฉ้อโกง ฉุดคร่าอนาจาร ประพฤติผิดในกาม

รูปแบบของคนพาล มีข้อควรสังเกตุคือ

๑. ชอบแนะนำไปในทางที่ผิด หรือที่ไม่ควรแนะนำ อาทิเช่น แนะนำให้ไปเล่นการพนัน ให้ไปลักขโมย ให้กินยาบ้า ให้เสพยา ชวนไปฉุดคร่าอนาจารเป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นพาล

๒. ชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ อาทิเช่น ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย แต่กลับชอบจะไปก้าวก่ายยุ่งกับหน้าที่การงานของผู้อื่น หรือไปจับผิดเพื่อนร่วมงาน แกล้ง ยุยง นินทาว่าร้ายกันและกันเป็นต้น

๓. ชอบทำผิดโดยเห็นสิ่งผิดเป็นของดี อาทิเช่น การสูบยาได้เป็นฮีโร่ เห็นคนที่ซื่อสัตย์เป็นคนโง่ไม่กินตามน้ำ ชอบรับสินบน ทุจริตในหน้าที่ หรือช่วยพวกพ้องให้พ้นจากความผิดเป็นต้น

๔. จะโกรธเคืองเมื่อพูดเตือน อาทิเช่น การเตือนเรื่องการเที่ยวเตร่ เตือนเรื่องการดื่มเหล้า กลับบ้านดึก เตือนเรื่องการคบเพื่อนเป้นต้น คนพวกนี้จะโกรธเมื่อได้รับการตักเตือน และไม่รับฟัง

๕. ไม่มีระเบียบวินัย อาทิเช่น ไม่เข้าคิวตามลำดับก่อนหลัง แต่ชอบแซงคิวอย่างหน้าด้านๆ ทิ้งขยะลงคลอง หรือข้างทาง ไม่เคารพกฏหมายของบ้านเมือง หรือของท้องถิ่นเป็นต้น

------------------------------------------------------------------------------------

๒. การคบบัญฑิต

บัณฑิต หมายถึงผู้ทรงความรู้ มีปัญญา มีจิตใจที่งาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้ดีรู้ชั่ว (ไม่ใช่คนที่จบปริญญาโดยนัย) มีลักษณะดังนี้คือ

๑. เป็นคนคิดดี คือการไม่คิดละโมบ ไม่พยาบาทปองร้ายใคร รู้จักให้อภัย เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ความกตัญญูรู้คุณเป็นต้น

๒. เป็นคนพูดดี คือวจีสุจริต พูดจริง ทำจริงไม่โกหก ไม่พูดหยาบ ถากถาง นินทาว่าร้าย

๓. เป็นคนทำดี คือทำอาชีพสุจริต มีเมตตา ทำทานเป็นปกตินิสัย อยู่ในศีลธรรม ทำสมาธิภาวนา

รูปแบบของบัณฑิต มีข้อควรสังเกตุคือ

๑. ชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร อาทิเช่นการชักนำให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ตักเตือนให้ทำความดีอย่างเช่น ให้เลิกเล่นการพนันเป็นต้น

๒. ชอบทำในสิ่งที่เป็นธุระ อาทิเช่นการทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง และใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่นเว้นแต่จะได้รับการร้องขอ

๓. ชอบทำและแนะนำสิ่งที่ถูกที่ควร อาทิเช่นการพูดและทำอย่างตรงไปตรงมา แนะนำการทำทานที่ถูกต้อง ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น

๔. รับฟังดี ไม่โกรธ อาทิเช่นเมื่อมีคนมาว่ากล่าวก็ไม่ถือโทษ หรือโกรธ หรือทำอวดดี แต่จะรับฟังแล้วนำไปพิจารณาโดยยุติธรรม แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุง

๕. รู้ระเบียบ กฏกติกามรรยาทที่ดี อาทิเช่นการรักษาระเบียบวินัยขององค์กร เพื่อให้หมู่คณะมีความเป็นระเบียบ และการดำเนินงานไม่สับสน หรือการรักษาความสะอาด ปฏิบัติ และเคารพกฏของสถานที่ ไม่ทำตามอำเภอใจ

------------------------------------------------------------------------------------

๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

การบูชา คือการแสดงความเคารพบุคคลที่เรานับถือ ยกย่อง เลื่อมใสในบุคคลคนนั้น ซึ่งการบูชาแบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ

๑. อามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของเช่น การนำเงินให้พ่อแม่ไว้ใช้จ่าย หรือมอบทรัพย์สินให้พ่อแม่ หรือการนำดอกไม้ ธูปเทียนไปบูชาพระก็ถือเป็นอามิสบูชาเป้นต้น

๒.ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการเจริญสมาธิภาวนา การฝึกจิตให้ไม่ฟุ้งซ่าน เห็นความจริงในความเป็นไปของโลกเป็นต้น

บุคคลที่ควรบูชา มีดังนี้คือ

๑.พระพุทธเจ้า (คงไม่ต้องอธิบาย)

๒.พระปัจเจกพระพุทธเจ้า หมายถึงพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

๓.พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิศราชธรรม

๔.บิดามารดา

๕.ครูอาจารย์ ที่มีความรู้ดี มีความสามารถ และประพฤติดี

๖.อุปัชฌาย์ หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม

------------------------------------------------------------------------------------

๔. การอยู่ในถิ่นอันสมควร

ถิ่นอันสมควรควรประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม ๔ อย่างได้แก่

๑.อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึงอยู่แล้วสบาย เช่นสะอาด เดินทางไปมาสะดวก อากาศดี เป็นแหล่งชุมชน ไม่มีแหล่งอบายมุขเป็นต้น

๒.อาหารเป็นที่สบาย หมายถึงอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เช่นมีแหล่งอาหารที่สามารถจัดซื้อหามาได้ง่าย เป็นต้น

๓.บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึงที่ที่มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีศีลธรรม ไม่มีโจร นักเลง หรือใกล้แหล่งอิทธิพลเป็นต้น

๔.ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึงมีที่พึ่งด้านธรรมะ มีที่ฟังธรรมเช่น มีวัดอยู่ในละแวกนั้น มีโรงเรียน หรือแหล่งศึกษาหาความรู้เป็นต้น

-------------------------------------------------------------------------------------
๕. เคยทำบุญมาก่อน

ขึ้นชื่อว่าบุญนั้น มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ

๑. ทำให้กาย วาจา และใจ สะอาดได้

๒. นำมาซึ่งความสุข

๓. ติดตามไปได้ หมายถึงบุญจะติดตัวเราไปได้ตลอดจนถึงชาติหน้า

๔. เป็นของเฉพาะตน หมายถึงขอยืม หรือแบ่งกันไม่ได้ ทำเองได้เอง

๕. เป็นที่มาของโภคทรัพย์ทั้งหลาย คือว่าผลของบุญจะบันดาลให้เกิดขึ้นได้เองโดยไม่ได้หวังผล

๖. ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ และนิพพานสมบัติแก่เราได้ หมายถึงความสมบูรณ์ตั้งแต่ทางโลก จนถึงนิพพานได้เลย

๗. เป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งนิพพาน ก็คือเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้บรรลุถึงนิพพานได้เร็วขึ้นเมื่อปฏิบัติ

๘. เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏสังสาร หมายถึงในวงจรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือที่เรียกว่าเวียนว่ายตายเกิดนั้น บุญจะคุ้มครองให้ผู้นั้นเกิดในที่ดี อยู่อย่างมีความสุข หรือตายอย่างไม่ทรมาน ขึ้นอยู่กับกำลังบุญที่สร้างสมมา

การทำบุญนั้นมีหลายวิธี แต่พอสรุปได้สั้นๆดังนี้คือ

๑.การทำทาน

๒.การรักษาศีล

๓.การเจริญภาวนา

-------------------------------------------------------------------------------------
๖. การตั้งตนชอบ

หมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ด้วยความถูกต้องและสุจริต อยู่ในสัมมาอาชีพ มีแผนการที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้นด้วยความไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อม และมีความอดทนไม่ละทิ้งกลางคัน

-------------------------------------------------------------------------------------
๗. ความเป็นพหูสูต

คือเป็นผู้ที่ฟังมาก เล่าเรียนมาก เป็นผู้รอบรู้ โดยมีลักษณะดังนี้คือ

๑.รู้ลึก คือการรู้ในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆอย่างหมดจดทุกแง่ทุกมุม อย่างมีเหตุมีผล รู้ถึงสาเหตุจนเรียกว่าความชำนาญ

๒.รู้รอบ คือการรู้จักช่างสังเกตในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่นเหตุการณ์แวดล้อมเป็นต้น

๓.รู้กว้าง คือการรู้ในสิ่งใกล้เคียงกับเรื่องนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กันเป็นต้น

๔.รู้ไกล คือการศึกษาถึงความเป็นไปได้ ผลในอนาคตเป็นต้น

ถ้าอยากจะเป็นพหูสูตก็ควรต้องมีคุณสมบัติดังว่านี้คือ

๑.ความตั้งใจฟัง ก็คือชอบฟัง ชอบอ่านหาความรู้ และค้นคว้าเป็นต้น

๒.ความตั้งใจจำ ก็คือรู้จักวิธีจำ โดยตั้งใจอ่านหรือฟังในสิ่งนั้นๆ และจับใจความให้ได้

๓.ความตั้งใจท่อง ก็คือท่องให้รู้โดยอัตโนมัติ ไม่ลืม ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ

๔.ความตั้งใจพิจารณา ก็คือการรู้จักพิจารณา ตรึกตรองในสิ่งนั้นๆอย่างทะลุปรุโปร่ง

๕.ความเข้าใจในปัญหา ก็คือการรู้อย่างแจ่มแจ้งในปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา

---------------------------------------------------------------------------

๘. การรอบรู้ในศิลปะ

ศิลปะ คือสิ่งที่แสดงออกถึงความงดงาม และมีความสุนทรีย์ โดยลักษณะของมันมีดังนี้คือ

๑.มีความปราณีต

๒.ทำให้ของดูมีค่ามากขึ้น

๓.ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

๔.ไม่ทำให้เกิดกามกำเริบ

๕.ไม่ทำให้เกิดความพยาบาท

๖.ไม่ทำให้เกิดความเบียดเบียน

ถ้าท่านอยากเป็นคนมีศิลปะ ควรต้องฝึกให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ในตัวคือ

๑.มีศรัทธาในความงดงามของสิ่งต่างๆ

๒.หมั่นสังเกตและพิจารณา

๓.มีความปราณีต อารมณ์ละเอียดอ่อน

๔.เป็นคนสุขุม มีความคิดสร้างสรรค์

---------------------------------------------------------------------------
๙. มีวินัยที่ดี

วินัย ก็คือข้อกำหนด ข้อบังคับ กฏเกณฑ์เพื่อควบคุมให้มีความเป็นระเบียบนั่นเอง มีทั้งวินัยของสงฆ์และของคนทั่วไป สำหรับของสงฆ์นั้นมีทั้งหมด ๗ อย่างหรือเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนของบุคคลทั่วไปก็มี ๑๐ อย่าง คือการละเว้นจากอกุศลกรรม ๑๐ ประการ

อนาคาริยวินัยของพระมีดังนี้

๑.ปาฏิโมกขสังวร คือการอยู่ในศีลทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ การผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าต้องโทษแล้วแต่ความหนักเบา เรียงลำดับกันไปตั้งแต่ ขั้นปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต เป็นต้น (ความหมายของแต่ละคำมันต้องอธิบายเยอะ จะไม่กล่าวในที่นี้)

๒.อินทรียสังวร คือการสำรวมอายตนะทั้ง ๕ และกาย วาจา ใจ ให้อยู่กับร่องกับรอย โดยอย่าไปเพลิดเพลินติดกับสิ่งที่มาสัมผัสเหล่านั้น

๓.อาชีวปาริสุทธิสังวร คือการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ นั่นก็คือการออกบิณฑบาตร ไม่ได้เรียกร้อง เรี่ยไรหรือเที่ยวขอเงินชาวบ้านมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของตัวเอง

๔.ปัจจยปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาในสิ่งของทั้งหลายถึงคุณประโยชน์โดยเนื้อแท้ของสิ่งของเหล่านั้นอย่างแท้จริง โดยใช้เพื่อบริโภค เพื่อประโยชน์ ความอยู่รอด และความเป็นไปของชีวิตเท่านั้น

วินัยสำหรับฆราวาส หรือบุคคลทั่วไป เรียกว่าอาคาริยวินัย มีดังนี้ (อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ)

๑.ไม่ฆ่าชีวิตคน หรือสัตว์ไม่ว่าน้อย ใหญ่

๒.ไม่ลักทรัพย์ ยักยอกเงิน สิ่งของมาเป็นของตัว

๓.ไม่ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมีย ข่มขืนกระทำชำเรา

๔.ไม่พูดโกหก หลอกลวงให้หลงเชื่อ หรือชวนเชื่อ

๕.ไม่พูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย ยุยงให้คนแตกแยกกัน

๖.ไม่พูดจาหยาบคาย ให้เป็นที่แสลงหูคนอื่น

๗.ไม่พูดจาไร้สาระ หรือที่เรียกว่าพูดจาเพ้อเจ้อไม่มีสาระ เหตุผล หรือประโยชน์อันใด

๘.ไม่โลภอยากได้ของเขา คือมีความคิดอยากเอาของคนอื่นมาเป็นของเรา

๙.ไม่คิดร้าย ผูกใจเจ็บ แค้น ปองร้ายคนอื่น

๑๐.ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีความสำคัญ บุญหรือกรรมไม่มีจริงเป็นต้น

---------------------------------------------------------------------------
๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต

คำว่าวาจาอันเป็นสุภาษิตในที่นี้มิได้หมายถึงเพียงว่าต้องเป็นคำร้อยกรอง ร้อยแก้ว เป็นคำคมบาดใจมีความหมายลึกซึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงคำพูดที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ซึ่งสรุปว่าประกอบด้วยลักษณะดังนี้

๑.ต้องเป็นคำจริง คือข้อมูลที่ถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาพูด

๒.ต้องเป็นคำสุภาพ คือพูดด้วยภาษาที่สุภาพ มีความไพเราะในถ้อยคำ ไม่มีคำหยาบโลน หรือคำด่า

๓.พูดแล้วมีประโยชน์ คือมีประโยชน์ต่อผู้ฟังถ้าหากนำแนวทางไปคิด หรือปฏิบัติในทางสร้างสรรค์

๔.พูดด้วยจิตที่มีเมตตา คือพูดด้วยจิตใจที่มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง มีความจริงใจต่อผู้ฟัง

๕.พูดได้ถูกกาลเทศะ คือพูดในสถานที่เหมาะสม และในเวลาที่เหมาะสม โดยความเหมาะสมจะมีมากน้อยเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่พูด

---------------------------------------------------------------------------
๑๑.การบำรุงบิดามารดา

ท่านว่าพ่อแม่นั้นเปรียบได้เป็นทั้ง ครูของลูก เทวดาของลูก พรหมของลูก และอรหันต์ของลูก ความหมายโดยละเอียดมีดังต่อไปนี้คือ

 ที่ว่าเป็นครูของลูก เพราะว่าท่านได้คอยอบรมสั่งสอนลูก เป็นคนแรกก่อนคนอื่นใดในโลก

 ที่ว่าเป็นเทวดาของลูก เพราะว่าท่านจะคอยปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดู ประคบประหงมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก บำรุงให้เติบใหญ่เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกในทุกด้าน

 ที่ว่าเป็นพรหมของลูก เพราะว่าท่านมีพรหมวิหาร ๔ นั่นก็คือ มีเมตตา หมายถึงความเอ็นดู ความปรารถนาดีต่อลูกในทุกๆด้าน ไม่มีที่สิ้นสุด มีกรุณา หมายถึงให้ความกรุณาต่อลูก ลูกอยากได้อะไรก็หามาให้ลูก ให้การศึกษาเล่าเรียน ส่งเสียเท่าที่มีความสามารถจะให้ได้ มีมุทิตา หมายถึงความรักที่ยอมสละได้แม้ชีวิตของตัวเองเพื่อลูก ยอมเสียสละได้ทุกอย่าง และมีอุเบกขา หมายถึงการวางเฉย ไม่ถือโกรธเมื่อลูกประมาท ซน ทำผิดพลาดเพราะความไร้เดียงสา หรือเพราะความไม่รู้

 ที่ว่าเป็นอรหันต์ของลูก เพราะว่าท่านมีคุณธรรม ๔ ประการอันได้แก่

 เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อลูก คืออุปการะเลี้ยงดูมาด้วยความเหนื่อยยาก กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 เป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อลูก คือให้ความอบอุ่นเลี้ยงดู ปกป้องจากภยันตรายต่างๆ นานา

 เป็นเนื้อนาบุญของลูก คือลูกเป็นส่วนหนึ่งของกรรมดีที่พ่อแม่ได้ทำไว้ และเป็นผู้รับผลบุญที่พ่อแม่ได้สร้างไว้แล้วทางตรง

 เป็นอาหุไนยบุคคล คือเป็นเหมือนพระที่ควรแก่การเคารพนับถือและรับของบูชา เพื่อเทอดทูนไว้เป็นแบบอย่าง

การทดแทนพระคุณบิดามารดาท่านสามารถทำได้ดังนี้

ระหว่างเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทน ช่วยเหลือเป็นธุระเรื่องการงานให้ท่าน ดำรงวงศ์ตระกูลให้สืบไปไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย รวมทั้งประพฤติตนให้ควรแก่การเป็นสืบทอดมรดกจากท่าน ครั้นเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศกุศลให้ท่าน ส่วนการเป็นลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าไว้ดังนี้

๑.ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือพยายามให้ท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องการทำดี

๒.ถ้าท่านยังไม่มีศีล ให้ท่านถึงพร้อมด้วยศีล คือพยายามให้ท่านเป็นผู้รักษาศีล ๕ ให้ได้

๓.ถ้าท่านเป็นคนตระหนี่ ให้ท่านถึงพร้อมด้วยการให้ทาน คือพยายามให้ท่านรู้จักการให้ด้วยเมตตาโดยไม่หวังผลตอบแทน

๔.ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ให้ท่านถึงพร้อมด้วยปัญญา คือพยายามให้ท่านหัดนั่งทำสมาธิภาวนาให้ได้

---------------------------------------------------------------------------
๑๒.การสงเคราะห์บุตร

คำว่าบุตรนั้น มีอยู่ ๓ ประเภทได้แก่

๑.อภิชาติบุตร คือบุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเหนือกว่าบิดา มารดา

๒.อนุชาตบุตร คือบุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเสมอบิดา มารดา

๓.อวชาตบุตร คือบุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถต่ำกว่าบิดา มารดา

การที่เราเป็นพ่อ เป็นแม่ของบุตรนั้น มีหน้าที่ที่ต้องให้กับลูกของเราคือ

๑.ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

๒.ปลูกฝัง สนับสนุนให้ทำความดี

๓.ให้การศึกษาหาความรู้

๔.ให้ได้คู่ครองที่ดี (ใช้ประสพการณ์ของเราให้คำปรึกษาแก่ลูก ช่วยดูให้)

๕.มอบทรัพย์ให้ในโอกาสอันควร (การทำพินัยกรรม ก็ถือว่าเป็นสิ่งถูกต้อง)
---------------------------------------------------------------------------
๑๓.การสงเคราะห์ภรรยา

เมื่อว่าด้วยเรื่องคนที่จะมาเป็นคู่ครองของชาย หรือที่เรียกว่าจะมาเป็นภรรยานั้น ในโลกนี้ท่านแบ่งลักษณะของภรรยาออกเป็น ๗ ประเภทได้แก่

๑.วธกาภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยเพชรฆาต เป็นพวกที่มีจิตใจคิดไม่ดี ชอบทำร้าย ชอบด่าทอสาปแช่ง คิดฆ่าสามี หรือมีชู้กับชายอื่น

๒.โจรีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยโจร เป็นคนล้างผลาญ สร้างหนี้สิน หาได้เท่าไรก็ไม่พอ หรือเอาเรื่องในบ้านไปโพทนาให้คนข้างนอกรับรู้ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

๓.อัยยาภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยนาย เป็นคนชอบข่มสามีให้อยู่ในอำนาจ ไม่ให้เกียรติสามีเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น ชอบสั่งการหรือเอาแต่ใจตัวเอง เห็นสามีเป็นคนไร้ความสามารถ แต่ตัวเองเป็นผู้นำ

๔.มาตาภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยแม่ คือผู้ที่มีความรักต่อสามีอย่างสุดซึ้ง ไม่เคยทอดทิ้งแม้ยามทุกข์ยาก ป่วยไข้ ไม่ทำให้มีเรื่องสะเทือนใจ

๕.ภคินีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยน้องสาว คือผู้ที่มีความเคารพต่อสามีในฐานะพ่อบ้าน แต่ขัดใจกันบ้างตามประสาคนใกล้ชิดกันแล้วก็ให้อภัยกัน โดยไม่คิดพยาบาท เดินตามแนวทางของสามี ต้องพึ่งพาสามี

๖.สขีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยเพื่อน ต่างคนต่างก็มีอะไรที่เหมือนกัน ความสามารถพอกัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัน ไม่ค่อยยอมกัน เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็รักกันและช่วยเหลือกันโดยต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง

๗.ทาสีภริยา หมายถึงภรรยาเสมอด้วยคนรับใช้ คือภรรยาที่อยู่ภายใต้คำสั่งสามีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง สามีเป็นผู้เลี้ยงดู สั่งอะไรก็ทำอย่างนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยก็ไม่ออกความเห็น อดทนทำงานตามหน้าที่ตามแต่สามีจะสั่งการ แม้ถูกดุด่า เฆี่ยนตีก็ยังทนอยู่ได้โดยไม่โต้ตอบ

ท่านว่าคนที่จะมาเป็นสามี ภรรยาได้ดีหรือคู่สร้างคู่สมนั้นควรต้องมีคุณสมบัติดังนี้

๑.สมสัทธา คือมีศรัทธาเสมอกัน

๒.สมสีลา คือมีศีลเสมอกัน

๓.สมจาคะ คือมีการเสียสละเหมือนกัน

๔.สมปัญญา คือมีปัญญาเสมอกัน

เมื่อได้แต่งงานกันแล้ว แต่ละฝ่ายก็มีหน้าที่ที่ต้องทำดังนี้

สามีมีหน้าที่ต่อภรรยาคือ

๑.ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา คือการแนะนำเปิดเผยว่าเป็นภรรยา ไม่ปิดบังกับผู้อื่น และให้เกียรติภรรยาในการตัดสินใจเรื่องต่างๆด้วย

๒.ไม่ดูหมิ่น คือไม่ดูถูกภรรยาเมื่อทำไม่เป็น ทำไม่ถูก หรือเรื่องชาติตระกูล การศึกษาว่าต่ำต้อยกว่าตน แต่ต้องสอนให้

๓.ไมประพฤตินอกใจภรรยา คือการไปมีเมียน้อยนอกบ้าน เลี้ยงต้อย หรือเที่ยวเตร่หาความสำราญกับหญิงบริการ

๔.มอบความเป็นใหญ่ให้ในบ้าน คือการมอบธุระทางบ้านให้กับภรรยาจัดการ รับฟังและทำตามความเห็นของภรรยาเกี่ยวกับบ้าน

๕.ให้เครื่องแต่งตัว คือให้ความสุขกับภรรยาเรื่องการแต่งตัวให้พอดี เพราะสตรีเป็นผู้รักสวยรักงามโดยธรรมชาติ

ฝ่ายภรรยาก็มีหน้าที่ต้องตอบแทนสามีคือ

๑.จัดการงานดี คืองานบ้านการเรือนต้องไม่บกพร่อง ดูแลด้านความสะอาด ทำนุบำรุงรักษา ด้านโภชนาการให้เรียบร้อยดี

๒.สงเคราะห์ญาติสามีดี คือให้ความเอื้อเฟื้อญาติฝ่ายสามี เท่าที่ตนมีกำลังพอทำได้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียว

๓.ไม่ประพฤตินอกใจสามี คือไม่คบชู้ หรือปันใจให้ชายอื่น ซื่อสัตย์ต่อสามีคนเดียว

๔.รักษาทรัพย์ให้อย่างดี คือรู้จักรักษาทรัพย์สินไว้ไม่ให้หมดไปด้วยความสิ้นเปลือง แต่ก็ไม่ถึงกับตระหนี่

๕.ขยันทำงาน คือไม่เกียจคร้านเอาแต่ออกงาน นอน กิน หรือเที่ยวแต่อย่างเดียว ต้องทำงานบ้านด้วย

---------------------------------------------------------------------------
๑๔.การทำงานไม่ให้คั่งค้าง

ว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้งานคั่งค้างนั้นสรุปสาเหตุได้เพราะว่า

๑.ทำงานไม่ถูกกาล

๒.ทำงานไม่ถูกวิธี

๓.ไม่ยอมทำงาน

หลักการทำงานให้เสร็จลุล่วงมีดังนี้

๑.ฉันทะ คือมีความพอใจในงานที่ทำ

๒.วิริยะ คือมีความตั้งใจ พากเพียรในงานที่ทำ

๓.จิตตะ คือมีความเอาใจใส่ในงานที่ทำ

๔.วิมังสา คือมีการคิดพิจารณาทบทวนงานนั้นๆ

---------------------------------------------------------------------------
๑๕.การให้ทาน

การให้ทาน คือการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนโดยหมายให้ผู้ได้รับได้พ้นจากทุกข์ แบ่งออกเป็น ๓ อย่างได้แก่

๑.อามิสทาน คือการให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงินเป็นทาน

๒.ธรรมทาน คือการสอนให้ธรรมะเป็นความรู้เป็นทาน

๓.อภัยทาน คือการให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา ไม่จองเวร หรือพยาบาทกัน

การให้ทานที่ถือว่าเป็นความดี และได้บุญมากนั้นจะประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการอันได้แก่

๑.วัตถุบริสุทธิ์ คือเป็นของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ไปยักยอกมา โกงมา หรือได้มาด้วยวิธีแยบยล

๒.เจตนาบริสุทธิ์ คือมีจิตยินดี ผ่องใสเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้ ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้

๓.บุคคลบริสุทธิ์ คือให้กับผู้รับที่มีศีลธรรม ตัวผู้ให้เองก็ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์

การให้ทานที่ถือว่าไม่ดี และยังอาจเป็นบาปกรรมถึงเราทางอ้อมอีกด้วยได้แก่

๑.ให้สุรา ยาเสพย์ติด เป็นต้น (ถ้าเขาเมาแล้วขับรถชนตาย เราก็มีส่วนบาปด้วย)

๒.ให้อาวุธ (ถ้าอาวุธนั้นถูกเอาไปใช้ประหัตประหาร บาปก็มาถึงเราด้วย)

๓.ให้มหรสพ คือการบันเทิงทุกรูปแบบ

๔.ให้สัตว์เพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ อันนี้รวมถึงการจัดหาสาวๆ ไปบำเรอผู้มีอำนาจหรือผู้น้อยด้วยเป็นต้น

๕.ให้ภาพลามก หรือสิ่งพิมพ์ลามก เพราะทำให้เกิดความกำหนัด เกิดกามกำเริบ (เมื่อดูแล้วเกิดไปฉุดคร่า ข่มขืนใคร บาปก็ตกทอดมาถึงเราด้วย)



---------------------------------------------------------------------------
๑๖.การประพฤติธรรม

การประพฤติธรรม ก็คือการปฏิบัติให้เป็นไป แบ่งออกได้เป็น ๒ อันได้แก่

กายสุจริต คือ

๑.การไม่ฆ่าสัตว์ หมายรวมหมดตั้งแต่สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ และมนุษย์

๒.การไม่ลักทรัพย์ หมายรวมถึงการคอรัปชั่น ไปหลอกลวง ปล้นจี้ชาวบ้านด้วย

๓.การไม่ประพฤติผิดในกาม หมายรวมถึงการคบชู้ นอกใจภรรยา และการข่มขืนด้วย

วจีสุจริต คือ

๑.การไม่พูดเท็จ คือการพูดแต่ความจริง ไม่หลอกลวง

๒.การไม่พูดคำหยาบ คือคำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู เกิดความรู้สึกไม่สบายใจรวมหมด

๓.การไม่พูดจาส่อเสียด การนินทาว่าร้าย

๔.การไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล คือการพูดที่ไม่เป็นสาระ หาประโยชน์อันใดมิได้

มโนสุจริต คือ

๑.การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น คือการนึกอยากได้ของเขามาเป็นของเรา

๒.การไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น คือการนึกอยากให้คนอื่นประสพเคราะห์กรรม คิดจะทำร้ายผู้อื่น

๓.การเห็นชอบ คือมีความเชื่อความเข้าใจในความเป็นจริง ความถูกต้องตามหลักคำสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา

---------------------------------------------------------------------------
๑๗.การสงเคราะห์ญาติ

ลักษณะของญาติที่ควรให้การสงเคราะห์ เมื่ออยู่ในฐานะดังนี้คือ

๑.เมื่อยากจนหาที่พึ่งมิได้

๒.เมื่อขาดทุนทรัพย์ในการค้าขาย

๓.เมื่อขาดยานพาหนะ

๔.เมื่อขาดอุปกรณ์ทำมาหากิน

๕.เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย

๖.เมื่อคราวมีธุระการงาน

๗.เมื่อคราวถูกใส่ความหรือมีคดี

การสงเคราะห์ญาติ ทำได้ทั้งทางธรรมและทางโลกได้แก่

ในทางธรรม ก็ช่วยแนะนำให้ทำบุญกุศล ให้รักษาศีล และทำสมาธิภาวนา

ในทางโลก ก็ได้แก่

๑.ให้ทาน คือการสงเคราะห์เป็นทรัพย์สิน หรือเงินทองเพื่อให้เขาพ้นจากทุกข์หรือความลำบากตามแต่กำลัง

๒.ใช้ปิยวาจา คือการพูดเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน สุภาพ และประกอบไปด้วยความปรารถนาดี

๓.มีอัตถจริยา คือการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับเขา อาจช่วยเหลือด้วยแรงกาย กำลังใจ หรือด้วยความสามารถที่มี

๔.รู้จักสมานัตตตา คือการวางตัวให้เหมาะสม อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ถือตัว

---------------------------------------------------------------------------
๑๘.ทำงานที่ไม่มีโทษ

งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

๑.ไม่ผิดกฏหมาย คือทำให้ถูกต้องตามกฏหมายของบ้านเมือง

๒.ไม่ผิดประเพณี คือแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม

๓.ไม่ผิดศีล คือข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล ๕

๔.ไม่ผิดธรรม คือหลักธรรมทั้งหลายอาทิเช่น การพนัน การหลอกลวง

ส่วนอาชีพต้องห้ามสำหรับพุทธศาสนิกชนได้แก่

๑.การค้าอาวุธ

๒.การค้ามนุษย์

๓.การค้ายาพิษ

๔.การค้ายาเสพย์ติด

๕.การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า

---------------------------------------------------------------------------
๑๙.ละเว้นจากบาป

บาปคือสิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาปได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ

๑.ฆ่าสัตว์

๒.ลักทรัพย์

๓.ประพฤติผิดในกาม

๔.พูดเท็จ

๕.พูดส่อเสียด

๖.พูดคำหยาบ

๗.พูดเพ้อเจ้อ

๘.โลภอยากได้ของเขา

๙.คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น

๑๐.เห็นผิดเป็นชอบ

---------------------------------------------------------------------------
๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

ว่าด้วยเรื่องของน้ำเมานั้น อาจทำมาจากแป้ง ข้าวสุก การปรุงโดยผสมเชื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่นเบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนมีโทษอันได้แก่

๑.ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหาทั้งๆที่เงินจำนวนเดียวกันนี้สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า

๒.ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ

๓.ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มสุราล้วนแล้วแต่บั่นทอนสุขภาพกายจนถึงตายได้เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน

๔.ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดีเข้าเช่นไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูล และหน้าที่การงานเสี่อมเสีย

๕.ทำให้ลืมตัวไม่รู้จักอาย คนเมาทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำสิ่งที่คนมีสติจะไม่ทำ เช่นแก้ผ้าเดิน หรือนอนในที่สาธารณะเป็นต้น

๖.ทอนกำลังปัญญา ทานแล้วทำให้เซลล์สมองเริ่มเสื่อมลง ก็จะทำให้สุขภาพและปัญญาเสื่อมถอย ความสามารถโดยรวมก็ด้อยลง

---------------------------------------------------------------------------
๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

ธรรมในที่นี้ก็คือหลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดีและเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้

คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ดังนี้คือ

๑.ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี

๒.ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี

๓.ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก

สิ่งที่ไม่ควรประมาทได้แก่

๑.การประมาทในเวลา คือการปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หรือผลัดวันประกันพรุ่งเป็นต้น

๒.การประมาทในวัย คือคิดว่าอายุยังน้อย ไม่ต้องทำความเพียรก็ได้เพราะยังต้องมีชีวิตอยู่อีกนานเป็นต้น

๓.การประมาทในความไม่มีโรค คือคิดว่าตัวเองแข็งแรงไม่ตายง่ายๆ ก็ปล่อยปละละเลยเป็นต้น

๔.การประมาทในชีวิต คือการไม่กำหนดวางแผนถึงอนาคต คิดอยู่แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนานเป็นต้น

๕.การประมาทในการงาน คือไม่ขยันตั้งใจทำให้สำเร็จ ปล่อยตามเรื่องตามราว หรือปล่อยให้ดินพอกหางหมูเป็นต้น

๖.การประมาทในการศึกษา คือการไม่คิดศึกษาเล่าเรียนในวัยที่ควรเรียน หรือขาดความเอาใจใส่ที่เพียงพอ

๗.การประมาทในการปฏิบัติธรรม คือการไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนาหรือศึกษาหลักธรรมให้ถ่องแท้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเป็นต้น

---------------------------------------------------------------------------
๒๒.มีความเคารพ

ท่านได้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเคารพมีอยู่ดังนี้

๑.พระพุทธเจ้า

๒.พระธรรม

๓.พระสงฆ์

๔.การศึกษา

๕.ความไม่ประมาท คือการดำเนินตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาอื่นๆ ด้วยความเคารพ

๖.การสนทนาปราศรัย คือการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนด้วยความเคารพ

---------------------------------------------------------------------------
๒๓.มีความถ่อมตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม

ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้คือ

๑.ทำให้เสียคน คือไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม เสียอนาคต

๒.ทำให้เสียมิตร คือไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้

๓.ทำให้เสียหมู่คณะ คือถ้าต่างคนต่างถือดี ก็ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ ในที่สุดก็ไม่ถึงจุดหมาย หรือทำให้เป็นที่เบื่อหน่ายของคนอื่น

การทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นมีหลักดังนี้คือ

๑.ต้องคบกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่ดีมีศีลมีธรรม คอยตักเตือนหรือชักนำไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร

๒.ต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง คือการรู้จักคิดหาเหตุผลอยู่ตลอดถึงความเป็นไปในธรรมชาติของมนุษย์ ต่างคนย่อมต่างจิดต่างใจ และรวมทั้งหลักธรรมอื่นๆ

๓.ต้องมีความสามัคคี คือการมีความสามัคคีในหมู่คณะ อลุ่มอล่วยในหลักการ ตักเตือน รับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล

ท่านว่าลักษณะของคนถ่อมตนนั้นมีดังนี้

๑.มีกิริยาที่นอบน้อม

๒.มีวาจาที่อ่อนหวาน

๓.มีจิตใจที่อ่อนโยน

สรุปแล้วก็คือ สมบูรณ์พร้อมด้วยกาย วาจา และใจนั่นเอง

---------------------------------------------------------------------------
๒๔.มีความสันโดษ

คำว่าสันโดษไม่ได้หมายถึงการอยู่ลำพังคนเดียวอย่างเดียวก็หาไม่ แต่หมายถึงการพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในของของตัว ซึ่งท่านได้ให้นิยามที่เป็นลักษณะของความสันโดษเป็นดังนี้ คือ

๑.ยถาลาภสันโดษ หมายถึงความยินดีตามมีตามเกิด คือมีแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น เป็นอยู่อย่างไรก็ควรจะพอใจ ไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่

๒.ยถาพลสันโดษ หมายถึงความยินดีตามกำลัง เรามีกำลังแค่ไหนก็พอใจเท่านั้น ตั้งแต่กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบารมี หรือกำลังความสามารถเป็นต้น

๓.ยถาสารูปสันโดษ หมายถึงความยินดีตามควร ซึ่งโยงใยไปถึงความพอเหมาะพอควรในหลายๆเรื่อง เช่นรูปลักษณ์ของตนเอง และรวมทั้งฐานะที่เราเป็นอยู่

---------------------------------------------------------------------------
๒๕.มีความกตัญญู

คือการรู้คุณ และตอบแทนท่านผู้นั้น บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง ท่านว่าสิ่งของหรือผู้ที่ควรกตัญญูนั้นมีดังนี้

๑.กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์เป็นต้น

๒.กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่สัตว์ที่มีคุณต่อเราช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดีเช่นช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้านเป็นต้น

๓.กตัญญูต่อสิ่งของ ได้แก่สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณต่อเราเช่น หนังสือที่ให้ความรู้แก่เรา อุปกรณ์ทำมาหากินต่างๆ เราไม่ควรทิ้งคว้าง หรือทำลายโดยไม่เห็นคุณค่า

---------------------------------------------------------------------------
๒๖.การฟังธรรมตามกาล

เมื่อมีโอกาส เวลา หรือตามวันสำคัญต่างๆ ก็ควรต้องไปฟังธรรมบ้างเพื่อสดับตรับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ในหลักธรรมนั้นๆ และนำมาใช้กับชีวิตเราเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรไปฟังธรรมนั้นมีดังนี้คือ

๑.วันธรรมสวนะ ก็คือวันพระ หรือวันที่สำคัญทางศาสนา

๒.เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม ก็อย่างเช่น การฟังธรรมตามวิทยุ การที่มีพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ หรือการอ่านจากสื่อต่างๆ

๓.เมื่อมีโอกาสอันสมควร อาทิเช่นในวันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่าง หรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัดเป็นต้น

คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดีควรต้องมีดังนี้คือ

๑.ไม่ดูแคลนในหัวข้อธรรมว่าง่ายเกินไป

๒.ไม่ดูแคลนในความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม

๓.ไม่ดูแคลนในตัวเองว่าโง่ ไม่สามารถเข้าใจได้

๔.มีความตั้งใจในการฟังธรรม และนำไปพิจารณา

๕.นำเอาธรรมนั้นๆไปปฏิบัติให้เกิดผล

---------------------------------------------------------------------------
๒๗.มีความอดทน

ท่านว่าลักษณะของความอดทนนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็นดังต่อไปนี้คือ

๑.ความอดทนต่อความลำบาก คือความลำบากที่ต้องประสพตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมเป็นต้น

๒.ความอดทนต่อทุกขเวทนา คือทุกข์ที่เกิดจากสังขารของเราเอง เช่นความไม่สบายกายเป็นต้น

๓.ความอดทนต่อความเจ็บใจ คือการที่คนอื่นทำให้เราต้องผิดหวัง หรือพูดจาให้เจ็บช้ำใจ ไม่เป็นอย่างที่หวังเป็นต้น

๔.ความอดทนต่ออำนาจกิเลส คือสิ่งยั่วยวนทั้งหลายถือเป็นกิเลสทั้งทางใจและทางกายอาทิเช่น ความนึกโลภอยากได้ของเขา หรือการพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงินเป็นต้น

วิธีทำให้มีความอดทนคือ มีหิริโอตัปปะ

๑.หิริ ได้แก่การมีความละอายต่อบาป การที่รู้ว่าเป็นบาปแล้วยังทำอีกก็ถือว่าไม่มีความละอายเลย

๒.โอตัปปะ ได้แก่การมีความเกรงกลัวในผลของบาปนั้นๆ

---------------------------------------------------------------------------
๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย

ท่านว่าผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้คือ

๑.ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน คือการรับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง

๒.ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน คือการนำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ

๓.ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือการที่ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาด เนื่องจากความประมาท เราควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม

๔.เคารพต่อคำสอนและผู้สอน คือการรู้จักสัมมาคารวะต่อผู้ทำให้คำสอน และเคารพในสิ่งที่ผู้สอนได้นำมาแนะนำ

๕.มีความอ่อนน้อมถ่อมตน คือไม่แสดงความยะโส ถือตัวว่าอยู่เหนือผู้อื่นเพราะสิ่งที่ตัวเองเป็นตัวเองมี

๖.มีความยินดีต่อคำสอนนั้น คือยอมรับในคำสอนนั้นๆ ด้วยความยินดีเช่นการไม่แสดงความเบื่อหน่ายเพราะเคยฟังมาแล้ว เป็นต้น

๗.ไม่ดื้อรั้น คือการไม่อวดดี คิดว่าของตัวเองนั้นผิดแต่ก็ยังดันทุรังทำต่อไปเพราะกลัวเสียชื่อ เสียฟอร์ม

๘.ไม่ข้ดแย้ง เพราะว่าการว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนนั้นก็คือ สิ่งที่ตรงข้ามกับที่เราทำอยู่แล้ว เราควรต้องเปิดใจให้กว้างไม่ขัดแย้งต่อคำสอน คำวิจารณ์นั้นๆ

๙.ยินดีให้ตักเตือนได้ทุกเวลา คือการยินดีให้มีการแสดงความคิดเห็นตักเตือนได้โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องเวลา

๑๐.มีความอดทนต่อการเป็นผู้ถูกสั่งสอน คือการไม่เอาความขัดแย้งในความเห็นเป็นอารมณ์ แต่ให้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้สอนนั้น

การทำให้เป็นคนว่าง่ายนั้นทำได้ดังนี้

๑.ลดมานะของตัว คือการไม่ถือดี ไม่ถือตัว ความไม่สำคัญตัวเองว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ อาทิเช่นถือตัวว่าการศึกษาดีกว่าเป็นต้น

๒.ละอุปาทาน คือการไม่ยึดถือในสิ่งที่เรามี เราเป็น หรือถือมั่นในอำนาจกิเลสต่างๆ

๓.มีสัมมาทิฏฐิ คือมีปัญญาที่เห็นชอบ การเห็นถูกเห็นควรตามหลักอริยสัจ ๔ เชื่อเรื่องความไม่เที่ยง เชื่อในเรื่องบุญเรื่องบาปเป็นต้น

---------------------------------------------------------------------------
๒๙.การได้เห็นสมณะ

คำว่าสมณะแปลตรงตัวได้ว่า ผู้สงบ (หมายถึงผู้อยู่ในสมณเพศ) ท่านว่าคุณสมบัติของสมณะต้องประกอบไปด้วย ๓ อย่างคือ

๑.ต้องสงบกาย คือมีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง รวมถึงกิริยา มรรยาท ตามหลักศีลธรรม

๒.ต้องสงบวาจา คือการพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดี มีความสุภาพสงบเสงี่ยมในคำพูดและภาษาที่ใช้ เป็นไปตามข้อปฏิบัติ ประเพณี

๓.ต้องสงบใจ คือการทำใจให้สงบปราศจากกิเลสครอบงำ ไม่ว่าจะเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความพยาบาทใดๆ ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนา

การได้เห็นสมณะมีอยู่ดังนี้คือ

๑.เห็นด้วยตา ความหมายก็ตรงตัวคือการเห็นจากการสัมผัสด้วยสายตาของตนเอง แล้วมีความประทับใจในความสำรวมในกาย

๒.เห็นด้วยใจ เนื่องจากความสำรวมกาย วาจา ใจของสมณะจะช่วยโนัมน้าวจิตใจของเราให้โอนอ่อนผ่อนตาม และรับฟังหลักคำสอนด้วยใจที่ยินดี ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเปิดใจเราให้สมณะได้ชี้นำนั่นเอง

๓.เห็นด้วยปัญญา หมายความถึงการรู้โดยการใช้ปัญญาใคร่ครวญ พิจารณาในการสัมผัสและเข้าถึงและรับรู้ถึงคำสอนของสมณะผู้นั้น และรู้ว่าท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง

เมื่อเห็นแล้วก็ต้องทำอย่างนี้คือ

๑.ต้องเข้าไปหา คือเข้าไปขอคำแนะนำ ชี้แนะจากท่าน หรือให้ความเคารพท่าน

๒.ต้องเข้าไปบำรุงช่วยเหลือ คือการช่วยเหลือท่านในโอกาสอันควร เพื่อแบ่งเบาภาระของท่าน

๓.ต้องเข้าไปฟัง คือการรับฟังคุณธรรม หลักคำสอนของท่านมาไว้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาชีวิต

๔.หมั่นระลึกถึงท่าน คือการระลึกถึงความดีที่ท่านมีแล้วนำมาเป็นตัวอย่างกับตัวเราเอง

๕.รับฟังรับปฏิบัติ คือการรับคำแนะนำของท่านมาปฏิบัติทำตามเพื่อให้เกิดผล ครั้นเมื่อติดขัดก็ใคร่แก้ไขเพื่อให้รู้จริงเห็นจริงตามนั้น

---------------------------------------------------------------------------
๓๐.การสนทนาธรรมตามกาล

การได้สนทนากันเรื่องธรรม ทำให้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และได้รู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง หรือเป็นการเผื่อแผ่ความรู้ที่เรามีให้แก่ผู้อื่นได้ทราบด้วย

ก่อนที่เราจะสนทนาธรรม ควรต้องพิจารณาและคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ

๑.ต้องรู้เรื่องที่จะพูดดี

๒.ต้องพูดเรื่องจริง มีประโยชน์

๓.ต้องเป็นคำพูดที่ไพเราะ

๔.ต้องพูดด้วยความเมตตา

๕.ต้องพูดจาโอ้อวด ยกตนข่มท่าน

ข้อปฏิบัติเมื่อมีการสนทนาธรรม

๑.มีศีลธรรม คือการเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นนิจศีลอยู่แล้ว การเป็นผู้ปฏิบัติถือเป็นหน้าที่ขั้นต้นในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

๒.มีสมาธิดี คือการมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่สนทนา ไม่ว่อกแวก พร้อมทั้งเป็นผู้ที่หมั่นเจริญสมาธิภาวนาด้วย

๓.แต่งการสุภาพ คือการแต่งตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย อยู่ในกรอบประเพณีของสังคมแวดล้อม ณ ที่นั้นๆ ถูกกาลเทศะ

๔.มีกิริยาสุภาพ คือมีความสุภาพในท่วงท่าไม่ว่าจะเดิน นั่ง ยืน หรือการกระทำใดๆ การที่มีกิริยางดงาม สุภาพย่อมโน้มน้าวจิดใจผู้พบเห็นให้เกิดความประทับใจที่ดี

๕.ใช้วาจาสุภาพ คือการใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือก้าวร้าว

๖.ไม่กล่าวค้านพระพุทธพจน์ คือการไม่นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นข้อสงสัย หรือกล่าวค้าน เพราะสิ่งที่กล่าวไว้ในพระพุทธพจน์ย่อมเป็นความจริงตลอดกาล

๗.ไม่ออกนอกประเด็นที่ตั้งไว้ คือการพูดให้อยู่ในหัวข้อที่ตั้งไว้ ไม่พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง

๘.ไม่พูดนานจนน่าเบื่อ คือการเลือกเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ เนื่องจากเรื่องบางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องขยายความมากเกินไป

---------------------------------------------------------------------------
๓๑.การบำเพ็ญตบะ

ตบะ โดยความหมายแปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าด้วยวิธีใด การบำเพ็ญตบะหมายความถึงการทำให้กิเลส ความรุ่มร้อนต่างๆ หมดไป หรือเบาบางลง ลักษณะการบำเพ็ญตบะมีดังนี้

๑.การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ (อายตนะภายใน ๖ อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้หลงติดอยู่กับสัมผัสภายนอกมากเกินไป ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ผ่านอินทรีย์ทั้ง ๖ (อินทรีย์สังวร)

๒.การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง

๓.การปฏิบัติธรรม คือการรู้และเข้าใจในหลักธรรมเช่นอริยสัจ เป็นต้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล และถึงพร้อมด้วยสมาธิ และปัญญา โดยมีจุดหมายสูงสุดที่พระนิพพาน กำจัดกิเลส ละวางทุกสิ่งได้หมดสิ้นด้วยปัญญา

---------------------------------------------------------------------------
๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์

คำว่าพรหมจรรย์หมายความถึง การบวชซึ่งละเว้นเมถุน การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน การประพฤติธรรมอันประเสริฐ ท่านว่าลักษณะของธรรมที่ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์นั้น (ไม่ใช่ว่าต้องบวชเป็นพระ) มีอยู่ดังนี้คือ

๑.ให้ทาน บริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง หรือปัญญา

๒.ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ชอบ ที่ถูกที่ควร (เวยยาวัจจมัย)

๓.รักษาศีล ๕ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา (เบญจศีล)

๔.มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับคนที่เราต้องพบปะด้วยทุกคน (อัปปมัญญา)

๕.งดเว้นจากการเสพกาม (เมถุนวิรัติ)

๖.ยินดีในคู่ของตน คือการมีสามีหรือภรรยาคนเดียว (สทารสันโดษ)

๗.เพียรพยายามที่จะละความชั่ว ไม่ท้อถอยในความบากบั่น (วิริยะ)

๘.รักษาซึ่งศีล ๘ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ร่วมประเวณี ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่บริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป ไม่ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ใช้ของหอมหรือเครื่องประดับ ไม่นอนบนที่สูงใหญ่ หรูหรา (อุโบสถ)

๙.ใช้ปัญญาเห็นแจ้งใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (อริยธรรม)

๑๐.ศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง (สิกขา)

*ขออธิบายเพิ่มเติมว่าข้อ ๕ ที่บอกว่าให้งดเว้นการเสพกาม แต่ข้อ ๖ ให้ยินดีในคู่ของตนนั้น เพราะว่าการประพฤติพรหมจรรย์ในที่นี้หมายถึง บุคคลทั่วไปที่อาจมีครอบครัวแล้ว ก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยการงดเว้นการร่วมประเวณี เช่นในวันสำคัญๆเป็นต้น

---------------------------------------------------------------------------
๓๓.การเห็นอริยสัจ

อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ ๔ ประการตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้มีดังนี้

๑.ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นจริงของสัตว์โลกทุกผู้ทุกนามต้องมีทุกข์ ๓ ประการคือ การเกิด ความแก่ ความตาย นอกจากนี้ก็มีความทุกข์ที่เป็นอาการ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมสรุปได้ดังนี้คือ

-ความโศกเศร้า (โสกะ)

-ความรำพันด้วยความเสียใจ (ปริเทวะ)

-ความเจ็บไข้ได้ป่วย (ทุกขะ)

-ความเสียใจ (โทมนัสสะ)

-ความท้อแท้ สิ้นหวัง คับแค้นใจ (อุปายาสะ)

-การตรอมใจ ผิดหวังจากสิ่งที่ไม่รัก (อัปปิเยหิ สัมปโยคะ)

-การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (ปิเยหิ วิปปโยคะ)

-ความหม่นหมองเมื่อปรารถนาแล้วไม่ได้สิ่งนั้น (ยัมปิจฉัง นลภติ)

๒.สมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นอกจากเหตุแห่งทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้นตอของทุกข์ก็อยู่ที่ใจของเราด้วยนั่นก็คือความอยาก ท่านว่าเป็นตัณหา ๓ อย่าง ซึ่งแบ่งออกได้เป็นดังนี้คือ

-ความอยากได้ หมายรวมถึงอยากทุกอย่างที่นำมาสนองสัมผัสทั้ง ๕ และกามารมณ์ (กามตัณหา)

-ความอยากเป็น คือความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ (ภวตัณหา)

-ความไม่อยากเป็น คือความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ (วิภวตัณหา)

๓.นิโรธ คือความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ความหลุดพ้น หรือหมายถึงภาวะของพระนิพพานนั่นเอง

๔.มรรค คือข้อปฏิบัติ หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ การเดินทางสายกลางเพื่อไปให้ถึงการดับทุกข์ คือ มรรคมี ๘ ประการ คือ

-ความเห็นชอบ เช่นความศรัทธาในเบื้องต้นต่อหลักธรรม คำสอน เช่นการเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริงเป็นต้น (สัมมาทิฏฐิ)

-ความดำริชอบ หรือความคิดชอบ มีความคิดที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขาร หรือการไม่คิดอยากได้ของเขามาเป็นของเราเป็นต้น (สัมมาสังกัปปะ)

-เจรจาชอบ คือการปฏิบัติตามหลักธรรม ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเป็นต้น (สัมมาวาจา)

-ทำการชอบ หรือการมีการกระทำที่ไม่ผิดหลักศีลธรรม เช่นไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น (สัมมากัมมันตะ)

-เลี้ยงชีพชอบ คือการทำมาหากินในทางที่ถูก ไม่เบียดเบียนหรือทำความเดือดร้อนให้กับสัตว์หรือผู้อื่น อยู่ในหลักธรรมที่กำหนด เช่น ไม่มีอาชีพค้ามนุษย์ หรืออาชีพค้าอาวุธเป็นต้น (สัมมาอาชีวะ)

-ความเพียรชอบ คือการหมั่นทำนุบำรุงในสิ่งที่ถูกต้อง อาทิเช่นการพยายามละกิเลสออกจากใจ หรือการพยายามสำรวม กาย วาจา ใจให้ดำเนินตามหลักธรรมของท่านเป็นต้น (สัมมาวายามะ)

-ความระลึกชอบ คือมีสติตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการพึงระลึกถึงความตายที่ต้องเกิดกับทุกคนเป็นต้น (สัมมาสติ)

-จิตตั้งมั่นชอบ คือมีจิตที่มีสมาธิ ไม่ว่อกแวกหรือคิดฟุ้งซ่าน และการทำสมาธิภาวนาตามหลักการที่ท่านได้บัญญัติแนะนำเอาไว้ (สัมมาสมาธิ)

๓๔.การทำให้แจ้งในพระนิพพาน

นิพพาน คือ ภาวะของจิตที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น หลุดจากอำนาจกรรม และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอีก ซึ่งก็คือพ้นจากทุกข์นั่นเอง

ท่านว่าลักษณะของนิพพานมีอยู่ ๒ ระดับดังนี้คือ

๑.การดับกิเลสขณะที่ยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หรือการเข้าถึงนิพพานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ -สอุปาทิเสสนิพพาน

๒.การดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่เลย คือการที่ร่างกายเราแตกดับแล้วไปเสวยสุขอันเป็นอมตะในพระนิพพาน (ตรงนี้ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างมากไปกว่านี้ได้) -อนุปาทิเสสนิพพาน

การที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด

---------------------------------------------------------------------------
๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

คำว่าโลกธรรม มีความหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำบนโลกนี้ ซึ่งเราไม่ควรมีจิดหวั่นไหวต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ท่านว่าลักษณะของโลกธรรมมี ๔ ประการคือ

๑.การได้ลาภ เมื่อมีลาภผลก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา มีแล้วก็ย่อมหมดไปได้ เป็นแค่ความสุขชั่วคราวเท่านั้น

๒.การได้ยศ ยศฐาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น เป็นสิ่งที่คนยอมรับกันว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ พอหมดยศก็หมดบารมี

๓.การได้รับการสรรเสริญ ที่ใดมีคนนิยมชมชอบ ที่นั่นก็ย่อมต้องมีคนเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมดา การถูกนินทาจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

๔.การได้รับความสุข ที่ใดมีสุขที่นั่นก็จะมีทุกข์ด้วย มีความสุขแล้วก็อย่าหลงระเริงไปจนลืมนึกถึงความทุกข์ที่แฝงมาด้วย

การทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม มีวิธีดังนี้คือ

๑.ใช้ปัญญาพิจารณา โดยตั้งอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา พิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงหลักธรรมต่างๆ

๒.เจริญสมาธิภาวนา ใช้กรรมฐานพิจารณาถึงความเป็นไปในความไม่เที่ยงในสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก และสังขาร

---------------------------------------------------------------------------
๓๖.มีจิตไม่โศกเศร้า

ท่านว่ามีเหตุอยู่ ๒ ประการที่ทำให้จิตเราต้องโศกเศร้าคือ

๑.ความโศกเศร้าที่เกิดเนื่องมาจากความรัก รวมถึงรักสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองด้วย

๒.ความโศกเศร้าที่เกิดจากความใคร่

การทำให้จิตใจไม่โศกเศร้านั้น มีข้อแนะนำดังนี้

๑.ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา

๒.ไม่ยึดมั่นในตัวตน หรือความจีรังยั่งยืน ในคนหรือสิ่งของว่าเป็นของเรา

๓.ทุกอย่างในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ แม้ร่างกายเราก็ใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น

๔.คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น

---------------------------------------------------------------------------
๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส

กิเลส ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านได้แบ่งประเภทของกิเลสออกเป็นดังนี้ คือ

๑.ราคะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

-ความโลภอย่างแรงจนแสดงออกมา เช่นการลักขโมย ปล้น จี้ ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (อภิชฌาวิสมโลภะ)

-ความเพ่งเล็งจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว มีใจอยากได้ของคนอื่นแต่ยังไม่ถึงกับแสดงออก (อภิชฌา)

-ความอยากได้ในทางไม่ชอบ เช่นการยอมรับสินบน การทุจริตเพื่อแลกกับการมีทรัพย์เป็นต้น (ปาปิจฉา)

-ความมักมากเห็นแก่ได้ ด้วยการเอามาเป็นของตนจนเกินพอดี เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น (มหิจฉา)

-ความยินดีในกาม ก็คือยังไม่สามารถละกิจกรรมทางเพศได้ ยังมีความรู้สึก มีแรงกระตุ้น มีความพอใจในเรื่องเพศ (กามระคะ)

-ความยินดีในรูปธรรมอันปราณีต ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาณ ปรารถนาในรูปของภพเมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไป (รูปราคะ)

-ความยินดีในอรูปฌาณ ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณเมื่อทำสมาธิถึงภพของอรูปพรหม (อรูปราคะ)

๒.โทสะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

-พยาบาท คือการผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี การจองเวร

-โทสะ คือการคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทแล้วก็มีใจคิดหมายทำร้าย

-โกธะ คือความโกรธ ความเดือดร้อนใจ ซึ่งล้วนเป็นเหมือนไฟที่เผาตัวเอง

-ปฏิฆะ คือความขัดใจ ความไม่พอใจอันทำให้อารมณ์หงุดหงิด

๓.โมหะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

-ความเห็นผิดเป็นชอบ เช่นการไม่เชื่อในเรื่องบาป เรื่องบุญเป็นต้น (มิจฉาทิฐิ)

-ความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง (โมหะ)

-การเห็นว่ามีตัวตน เช่นการเชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น (สังกายทิฏฐิ)

-ความสงสัย คือสงสัยในพระธรรม คำสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (วิจิกิจฉา)

-การยึดถืออย่างงมงาย เช่นการไปกราบไหว้สัมพเวสีที่อยู่ตามต้นไม้ ขอลาภเป็นต้น (สีลัพพตปรามาส)

-ความถือตัว คือการสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ (มานะ)

-ความฟุ้งซ่าน คือการที่จิตใจว่อกแวก คิดไม่เป็นสาระ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีสมาธิ หรือการทำสมาธิไม่นิ่ง (อุทธัจจะ)

-ความไม่รู้จริง คือการที่รู้แค่ผิวเผิน หรือการทึกทักเอาเอง ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรม ยังไม่เกิดปัญญา (อวิชชา)

โทษของการมีกิเลสดังกล่าวข้างต้นพอสรุปได้สั้นๆ ดังนี้คือ

๑.ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า

๒.โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว

๓.โมหะ มีโทษมาก แต่คลายช้า

---------------------------------------------------------------------------
๓๘.มีจิตเกษม

เกษม หมายถึงมีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข มีจิดเกษมก็คือว่ามีจิตที่เป็นสุขในที่นี้หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส ที่ท่านว่าไว้ว่าเป็นเครื่องผูกอยู่ ๔ ประการคือ

๑.การละกามโยคะ คือการละความยินดีในวัตถุ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเรียกว่ากามคุณซึ่งประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส

๒.การละภวโยคะ คือการละความยินดีในภพ โดยให้เห็นว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยงแท้ หรือคงอยู่ตลอดไป

๓.การละทิฏฐิโยคะ คือการละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบ โดยให้ดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้ว

๔.การละอวิชชาโยคะ คือการละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย ความไม่รู้ทั้งหลาย โดยให้มุ่งปฏิบัติเพื่อปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

---------------------------------------------------------------------------
อริยสัจ ๔

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร

เมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ได้มีมหาบุรุษท่านหนึ่งเกิดขึ้นมาในโลก เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางศิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท ซึ่งบัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล มีพระนามว่า "สิทธัตถะ" ต่อมาอีก ๓๕ ปี พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ได้พระนามตามความตรัสรู้ว่า "พุทธะ" ซึ่งไทยเราเรียกว่า "พระพุทธเจ้า" พระองค์ได้ทรงประกาศพระธรรมที่ได้ตรัสรู้แก่ประชาชน จึงเกิดพระพุทธศาสนา (คำสั่งสอนของพระพุทธะ) และบริษัท ๔ คือ ภิกษุ (สามเณร) ภิกษุณี (สามเณรี) อุบาสก อุบาสิกาขึ้นในโลกจำเดิมแต่นั้น บัดนี้ ในเมืองไทยมีแต่ภิกษุ (สามเณร) อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุนั้น คือชายผู้มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี หรือแม้อายุเกิน ๒๐ ปี แล้วเข้ามาถือบวช ปฏิบัติสิกขาของภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกานั้นคือ คฤหัสถ์ชายหญิงผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) และปฏิบัติอยู่ในศีลสำหรับคฤหัสถ์ บัดนี้ มีคำเรียกชายหญิงทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ผู้ประกาศตนถึงพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะว่า "พุทธมามกะ" "พุทธมามิกา" แปลว่า "ผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระของตน" พระพุทธศาสนาได้แผ่ออกจากประเทศถิ่นที่เกิดไปในประเทศต่างๆ ในโลก